ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : หลังออกพรรษา เป็นเทศกาลทอดกฐิน ในปี 2563 ได้กำหนดกฐินกาล ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม – วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม และกำหนดเริ่มพระกฐินหลวงตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2563
ความเป็นมาของการทอดกฐิน ในคัมภีร์พระไตรปิฎก กฐินขันธกะ ได้กล่าวไว้ พุทธศานิกชนคงหาอ่านได้ในกิจกรรมเผยแพร่กฐินกาล ทั้งมีประวัติเล่าว่า เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายเข้ามายังสุวรรณภูมิและประดิษฐานอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ ประชาชนคนไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมา พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองทรงรับเรื่องกฐินขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงบำเพ็ญเป็นการประจำทุกปี เมื่อถึงเทศกาลทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้เรียกว่า พระกฐินหลวง วัดใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เรียกว่า พระกฐินหลวง ทั้งสิ้น มิใช่กำหนดว่าทอดที่วัดหลวงเท่านั้น จึงเรียกว่า พระกฐินหลวง
แต่สมัยต่อมา เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น เรื่องของพระกฐินหลวงได้เปลี่ยนไปตามภาวการณ์ของบ้านเมือง เช่น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน ให้บุคคล หรือหน่วยงานต่างๆ น้อมนำไปทอดถวายผ้าพระกฐินได้ตามสมควรแก่ฐานะ เป็นต้น เป็นเหตุให้แบ่งพระกฐินหลวงออกเป็นประเภท ล้วนมีข้อกำหนด กระบวนการ และขั้นตอนของพิธีกรรมที่แตกต่างกัน ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ดังนี้ 1. พระกฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี 2. พระกฐินต้น 3. พระกฐินพระราชทาน
กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์โดยตรง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้นำไปถวาย พระอารามหลวงสำคัญ 18 พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ
กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 พระอาราม ได้แก่ 1.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 2.วัดอรุณราชวราราม 3.วัดราชโอรสาราม 4.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 5.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 6. วัดบวรนิเวศวิหาร 7.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 8.วัดสุทัศนเทพวราราม 9.วัดเทพศิรินทราวาส 10.วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 11.วัดราชาธิวาสวิหาร 12.วัดมกุฏกษัตริยาราม 13.วัดโสมนัสวิหาร ต่างจังหวัด จำนวน 5 พระอาราม 14.วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 15.วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 16.วัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 17.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และ 18.วัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
ในส่วนพระกฐินต้น พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์
พระกฐินพระราชทาน กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เพื่อน้อมนำไปถวายยังวัดหลวง (นอกจากพระอารามหลวงสำคัญ 18 พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน ดังที่กล่าวมาแล้ว) เปิดโอกาสให้กระทรวง กรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตัวเพื่อถวายพระราชกุศลตามกำลังศรัทธาของตนก็ได้
ปี 2563 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การ สมาคม มูลนิธิ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาที่มาขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน นำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ พระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักรในกฐินกาล จำนวน 292 พระอาราม และวัดไทยในต่างประเทศ จำนวน 31 วัด
กฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ราษฎร หรือประชาชน ผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปทอด ณ วัดต่างๆ เว้นไว้แต่วัดที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องกฐินหลวง การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามลักษณะของวิธีการทอด
คัดจาก “พระกฐินพระราชทาน กฐินราษฎร์ ความเป็นมาของการทอดกฐิน” กรมการศาสนา และภาพ , เรียบเรียง