ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น ภาพ: สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล "พระหีบจันทน์ งามวิจิตรลายเครือเถาครุฑ บันทึกช่างศิลปกรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9" ในงานศิลปกรรมอันเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ เครื่องประกอบตกแต่งที่ต้องจัดสร้างขึ้นคือ พระโกศจันทน์ หรือ พระโกศไม้จันทน์ การจัดสร้างพระโกศจันทน์ เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณ จะสร้างขึ้นในแต่ละครั้งที่มีพระราชพิธีพระบรมศพ พระศพ เมื่อจัดสร้างขึ้นเสร็จเรียบร้อยดีแล้วถูกนำขึ้นตั้งบนจิตกาธานพระเมรุมาศ การจัดสร้างพระโกศจันทน์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวง รัชกาลที่ 9) กรมศิลปากรโดยกลุ่มศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กำลังดำเนินการจัดสร้างพระโกศจันทน์ และฐานรองพระโกศจันทน์ (พระหีบจันทน์) ที่รายการหลังนี้ประกอบลายเกือบแล้วเสร็จ ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ รัชกาลที่ 9 อ.สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ได้ให้แนวคิดพัฒนาแบบมาจากพระโกศจันทน์ รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 โดยแบบลายพระโกศจันทน์ รัชกาลที่ 9 ใส่ลายบัวกลีบขนุนเทพพนม ส่วนพระหีบจันทน์เพิ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งตรงกลางเป็นครุฑ เมื่อทั้งสองส่วนพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์มาประกอบเข้ากันจะเป็นลายเทพยดาทรงครุฑ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะมีความวิจิตรงดงามและสมพระเกียรติที่สุด (20 ธ.ค. 59) กล่าวเฉพาะงานสร้างพระหีบจันทน์ เป็นงานประณีตศิลป์ที่ต้องใช้ช่างศิลปกรรมที่มีความชำนาญในการฉลุไม้ของลวดลายแต่ละชิ้นงาน และประสบการณ์ในการประกอบลายเข้ากับโครงสร้างโลหะ พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ ผู้มีประสบการณ์งานศิลปกรรมแขนงนี้มาหลายพระเมรุ ทำหน้าที่หัวหน้าดูแลการจัดสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับทีมช่างประกอบลาย สำหรับลวดลายที่ใช้ประกอบพระหีบจันทน์ นอกจากลายเครือเถาครุฑแล้ว มีอีก 20 ลายประกอบ เช่น บัวเชิงฐาน บัวปากฐาน ขาสิงห์ นมสิงห์ ดอกไม้ไหว สังเวียน เครือเถา กระจังรวน ดอกจอกหน้ากระดาน อุบะ บัวเชิงบาตร ช่อไม้ไหว บัวถลาฝา กุดั่นดอกจอก เฟื่อง รวงผึ้งท้องสิงห์ ฯ โดยรวมชิ้นลายประกอบประมาณ 25,000 ชิ้น (ข้อมูลลายประกอบฐานรองพระโกศจันทน์ จัดแสดงในอาคารพระโกศจันทน์ ท้องสนามหลวง) เมื่อลายประกอบเข้ากับโครงสร้างฐานรองเสร็จสมบูรณ์แล้วมีความวิจิตรงดงาม พิจิตร นิ่มงาม กล่าวว่า หลังจากขึ้นโครงโลหะฐานรองพระโกศจันทน์หรือพระหีบจันทน์ และผูกลวดตาข่ายจนเสร็จแล้ว ได้ประกอบลวดลาย โดยการผูกลวดลายเครือเถาครุฑทั้ง 4 ด้านของฐานรอง ด้วยวิธีการผูกลวดลายเริ่มจากส่วนที่อยู่ในสุด ค่อยๆ ซ้อนทับกัน ระหว่างผูกลาย ช่างอาจมีปรับรูปแบบเล็กน้อย เสริมไม้เพิ่มเติมหรือนำลายไปฉลุตัดชิ้นส่วนให้ลงตัว เพื่อความสมบูรณ์ของการผูกลาย ซึ่งตอนนี้การประกอบลายหลักๆ ดำเนินการทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงลายเฟื่องอุบะและดอกไม้ไหวนำมาตกแต่งบริเวณมุมของพระหีบจันทน์ ด้านผู้ปฏิบัติงาน มงคล คฤชนาวิน นายช่างประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ ผู้มีประสบการณ์ประกอบลายพระโกศจันทน์เมื่อครั้งงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า เป็นครั้งที่สองได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นลูกมืออาจารย์พิจิตร ช่วยเขียนโครงสร้างโลหะฐานรอง แล้วเอาลายที่ผู้ออกแบบลายไว้ มาดูก่อนว่าลวดลายมีความซับซ้อนหรือมีลักษณะพิเศษแบบไหน จากนั้นฉลุชิ้นงานตัวอย่างเพื่อให้ผู้ออกแบบดู จะปรับแต่งตกไหนเพิ่มเติมบ้าง มงคลกล่าวจากประสบการณ์ครั้งแรกมาใช้ในครั้งนี้ว่า ถือว่าเยอะมาก อย่างเช่นเราได้แบบมา สามารถเข้าใจแบบได้ทันที แบบตรงส่วนนี้ ประกอบโครงสร้างตรงส่วนไหน หรือว่าจะติดลายประดับลายอย่างไร และตัวลายชิ้นไหนจะต้องประกอบข้างนอกหรือข้างใน บางชิ้นลายมีการเจาะลวดเพื่อซ่อนลวดไว้ก่อนล่วงหน้า ก่อนที่จะประดับลายปิดด้านหน้าอีกที หรือลายแบบนี้เก็บลวดซ่อนลวดได้ก่อนที่จะประกอบลายฐานพระหีบจันทน์ ลายครั้งนี้ค่อนข้างซับซ้อน การซ้อนไม้ขนาดความหนาของไม้ และขื่อไม้ เพราะทางผู้ออกแบบค่อนข้างระบุมาจะต้องใช้ความหนาเท่าไหร่ เรียกว่าเราใส่ใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่ได้ไม้ คัดขนาดความหนาของไม้ เนื่องจากต้องทำต้นแบบเพื่อให้ผู้ออกแบบตรวจดูอีกครั้ง ส่วนการประกอบลายพระหีบจันทน์ มงคลอธิบาย โจทย์หลักๆ คือตัวชิ้นลายครุฑ ที่ผู้ออกแบบต้องการประดับโดยลักษณะปิดภาพผืนใหญ่ ติดทับ จะเป็นมุมตรง 45 หรือตรงช่วงที่ยกเกร็ดขึ้นมา คือให้ลักษณะเหมือนปูผ้า ช่วงที่ขาดตรงไหนให้ปะตรงนั้น ในส่วนที่ยากและซับซ้อนขึ้นมาของลายครุฑ ตรงช่วงที่ปิดมุม จะต้องแก้ปัญหาด้วยการหาเส้นคิ้วมาปิด เพราะถ้าเป็นลายครุฑอย่างเดียวจะมีช่องวางเยอะ จึงต้องคิดหาวิธีเติมคิ้วไม้ เพื่อให้แนบกันให้ได้มากที่สุด แนบแล้วจะต้องคำนึงถึงเวลาถอดประกอบแยกชิ้นทั้ง 4 ด้านของพระหีบจันทน์ให้สะดวกที่สุด ทั้งเสริมภาพการทำงานประกอบลายพระหีบจันทน์ “เราปรึกษากันในทีมช่างประกอบ ขอทำกันแค่ 2 คน เหตุผลก็เพราะว่าต้องการให้คนอยู่ในวงน้อยที่สุดเวลาประกอบลาย ถ้าใช้คนประกอบเยอะ ต่างคนต่างประกอบจะทำให้ไม่แน่ใจว่าลายลงในมุมเดียวกัน ลายจะเลื่อมหรือลายจะพอดี แต่ถ้าประกอบกันแค่ 2 คน จะสามารถกำหนดระยะของลายประกอบได้ว่าต้องการแค่นี้” ด้านช่างร่วมประกอบลายอีกคน ฐิติ หัตถกิจ นายช่างศิลปกรรม ปฏิบัติงาน สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ด้านหนึ่งทำงานปั้นปูนสด และฉลุมุก ฉะนั้นงานค่อนข้างจะเกี่ยวข้องฉลุไม้จันทน์ โดยหัวหน้าพิจิตร นิ่มงาม ดึงมาช่วยงานสร้างพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ รัชกาลที่ 9 งานหลักๆ นอกจากฉลุไม้แล้ว ทำหน้าที่การประกอบลายกับรุ่นพี่ มงคล คฤชนาวิน ซึ่งจับงานแบบฐานรองมาตั้งแต่เริ่ม ช่วยกันดูและวิเคราะห์กันก่อน ตัวแบบสามารถประกอบจริงได้ไหม อาจจะมีการปรับแบบบ้าง แค่ปรับพื้น ปรับลายเพื่อให้สามารถใช้งานประกอบได้ง่ายขึ้น แต่ภาพรวมแล้วยังเป็นแบบเดิม สำหรับความยาก หลักๆ ชิ้นส่วนที่มากขึ้นแล้ว ลายครั้งนี้ค่อนข้างมีความละเอียดซับซ้อนมากกว่าลายครั้งก่อนๆ ครั้งนี้เป็นลายไม้ที่มีความหนามาก จะสังเกตว่าลายซ้อนกันมีความนูน ทั้งด้านการฉลุและการประกอบลาย ฐิติ นายช่างศิลปกรรม หนุ่มวัย 30 กล่าวประสบการณ์ที่ได้ความรู้การประกอบลายครั้งนี้ “หลักๆ แล้วหัวหน้าพิจิตรและพี่มงคล ถ่ายทอดความรู้ให้ผมเรื่องการปรับลาย แบบไหนจึงจะใช้ได้ การประกอบลาย การยึดลวดที่จะขึ้นโครงจริง วิธีการซ่อนลวด ผูกลวด มัดลวดอย่างไรจึงจะใช้ได้ ไม่เกี่ยวกันตอนยก และเมื่อสังเกตให้ดีก็แทบจะไม่เห็นลวดเลย เพราะว่าเรามีการคิดกันก่อนลงมือประกอบลาย” ทั้ง มงคล คฤชนาวิน นายช่างประณีตศิลป์ และ ฐิติ หัตถกิจ นายช่างศิลปกรรม ปฏิบัติงาน เสร็จจากการประกอบลายพระหีบจันทน์แล้ว ยังจะต้องดูแบบและประกอบลายพระโกศจันทน์ โดยมี อ.พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส หัวหน้าคอยให้คำแนะนำ รวมทั้งดูแลช่างอาสาสมัครฉลุไม้เข้ามาช่วยฉลุลายด้วย และนี่เป็นมุมหนึ่งของงานสร้างฐานรองพระโกศจันทน์ (พระหีบจันทน์) ประกอบลายเครือเถาครุฑ ออกมาอย่างวิจิตรงดงามประณีตศิลป์ บันทึกในช่างศิลปกรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9