“วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง”เผยภาพรวมลงสีจิตรกรรมโครงการพระราชดำริฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม คืบหน้า40% จัดจิตรกรเชี่ยวชาญลงแสง-เงาภาพเหมือนบุคคล ต้นไม้ สถาปัตยกรรม เพิ่มภาพเขียนเขื่อนบางลางจ.ยะลาในผนังที่3 เสริมมิติภาพให้ลงตัว ความคืบหน้าภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายสนั่น รัตนะ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าของการลงสีภาพจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บนฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม ที่ร่วมดำเนินการกับสำนักช่างสิบหมู่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง โดยในส่วนของวิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบังที่ได้รับมอบหมายให้ลงสีภาพผนังที่ 3 โครงการพื้นที่กลางและภาคใต้ ได้ทำการลงสีบรรยากาศภาพรวมของภาพ ตลอดจนวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนภาพเสร็จแล้วประเมินการทำงานไว้ที่ 40% และงานที่เหลือ ต่อจากนี้คือการใส่รายละเอียดเนื้อหาของภาพให้มีความชัดเจนและในกระบวนการนี้ต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ภาพเหมือนบุคคล ต้นไม้ สถาปัตยกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการกำหนดแสงและเงาถือเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากองค์ประกอบโดยรวมของภาพกำหนดให้แสงเข้าไปทางขวา เงาไปทางซ้าย ซึ่งบางภาพจะต้องมีการกลับแสงภาพต้นฉบับให้เป็นไปตามทางภาพต้องใช้ทักษะการเขียนเพื่อให้ภาพมีความกลมกลืนเป็นชิ้นงานเดียวกันทั้งหมด นายสนั่น กล่าวอีกว่า งานออกมาไม่ใช่เพียงสอดคล้องระหว่างภาพที่เราได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่ยังต้องกลมกลืนทั้งโทนสี และภาพรวมของงานอีก 2 ผนัง เพราะนี่คืองานชิ้นเดียวกัน เพียงแต่แยกกันรับผิดชอบ การทำงานที่ผ่านมาทั้ง 3 หน่วยงานได้หารือถึงแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อคุมโทนสีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ภาพรวมของท้องฟ้าถือว่ามีความสอดคล้องกันแล้ว เข้าสู่กระบวนการเก็บรายละเอียดดังนั้น จิตอาสา ครูอาจารย์ ที่มีความถนัดรู้ความสามารถของตัวเองจะรับผิดชอบในหน้าที่ตัวเองในตำแหน่งงานนั้นๆ ไม่มีการทำแล้วแก้ไข แต่จะมีผู้คุมบรรยายกาศโดยรวม 2-3 คน เพื่อให้งานเป็นเอกภาพ รวมทั้งต้องดูงานอีก 2 ผนังไปด้วยโดยมีนายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้ควบคุมและประสานการทำงานในภาพรวม “จากการที่ดำเนินการลงสีจิตรกรรมที่รับผิดชอบทำให้เห็นว่า ภายในภาพสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาบริเวณที่เป็นส่วนของโครงการแก้มลิงได้ จึงหารือกับนายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ร่างต้นแบบและควบคุมประสานการทำงานภาพรวมเห็นตรงกันที่จะใส่โครงการเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ซึ่งถือเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศลงไปเป็นโครงการที่ 15 ถือเป็นการเพิ่มเนื้อหาของผนังให้มีความสมบูรณ์ โดยได้ใช้เทคนิคเชิงช่างใส่สันเขื่อนลงไปในภาพของโครงการแก้มลิงที่เป็นน้ำ ที่นอกจากจะเห็นตัวสันเขื่อนในมุมทางกว้างด้านหน้าแล้ว ในภาพดังกล่าวยังส่งให้องค์ประกอบของภาพดูมีมิติลึกเข้าไปมีความสมบูรณ์และสวยงามอย่างลงตัว” นายสนั่น ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง กล่าว