รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...อัพเดตความรู้ COVID-19 (2 ตุลาคม 2563) 1. โอกาสติดเชื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัว จากการวิจัยในสิงคโปร์ หากมีคนติดเชื้อในครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวอายุยิ่งมากโอกาสติดเชื้อยิ่งสูง บทเรียน: เราควรป้องกันตัวให้เคร่งครัด ยิ่งหากใครสัมผัสกับความเสี่ยง เช่น ไปที่แออัด ทำงานที่ต้องพบปะคนจำนวนมากในแต่ละวัน รวมถึงใครที่มีอาการไม่สบายคล้ายหวัดหรือหวัดใหญ่ ก็ควรใส่หลีกเลี่ยงที่จะไปคลุกคลีกับสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ เพราะท่านจะมีโอกาสติดเชื้อจากเราได้ง่าย 2. ยา Favipiravir อาจทำให้มีอาการไข้ได้ ทีมวิจัยจากญี่ปุ่นรายงานเคสผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 2 ราย ที่ทดลองรักษาด้วยยา Favipiravir แล้วพบว่ายานี้ทำให้เกิดอาการไข้ได้ในผู้ป่วยที่ได้ยานี้ แต่ไข้จะหายไปหากหยุดยา บทเรียน: นี่เป็นงานวิจัยแรกที่รายงานผลข้างเคียงของยา Favipiravir ที่ใช้ทดลองรักษาโรค COVID-19 ว่ามีไข้ได้ 3. สายพันธุ์ G ติดง่ายกว่าเดิม ไวรัสโรค COVID-19 มีการกลายพันธุ์ของกรดอมิโนตำแหน่งต่างๆ ไปหลากหลายกว่า 12,000 รูปแบบ (SNP: Single nucleotide polymorphism) แต่มีเพียง 4 รูปแบบที่ได้รับการรายงานว่ามีการระบาดในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม สายพันธุ์ G ที่ทราบกันว่ามีการเปลี่ยนกรดอมิโนจาก aspartate ไปเป็น glycine ที่ตำแหน่ง 614 นั้น (D614G) เป็น 1 ใน 4 รูปแบบที่มีการระบาดขยายวงมากขึ้น จนทำให้สายพันธุ์นี้กลายเป็นหลักในการระบาดรุนแรงทั่วโลกขณะนี้ ด้วยความรู้ที่มีในขณะนี้ วิจัยในห้องทดลองพบว่าติดง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมจากจีน โดยทดสอบในเซลล์ปอดของคน และในเซลล์จากค้างคาวและ pangolin อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสนี้น่าจะไม่ส่งผลกระทบหรือไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาวัคซีนชนิดต่างๆ ที่กำลังวิจัยกันอยู่ บทเรียน: สายพันธุ์ใหม่นี้ติดง่ายกว่าเดิม และครอบคลุมแทบทุกที่ทั่วโลก ดังนั้นหากไทยมีการระบาดซ้ำจึงมีโอกาสเกิดจากสายพันธุ์ใหม่นี้ หัวใจสำคัญคือ การใส่หน้ากากเสมอ และขอให้สังเกตอาการตนเอง หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจ จะได้ช่วยกันตัดวงจรการระบาดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ 4. การแพร่เชื้อระหว่างเดินทางในเครื่องบิน ทีมวิจัยจากออสเตรเลียได้ทำการศึกษาและชี้ให้เห็นว่า การเดินทางโดยเครื่องบินโดยมีระยะเวลาเดินทางนานพอสมควรจะมีโอกาสแพร่เชื้อแก่กันได้หากไม่ป้องกันให้ดี ในการศึกษานี้ได้ทำในเที่ยวบินจากซิดนีย์ไปเพิร์ธโดยใช้เวลาการบิน 5 ชั่วโมง สิ่งที่ควรพิจารณา: การคัดกรองทั้งประวัติเสี่ยงและอาการต่างๆ และการป้องกันตัวระหว่างเดินทางนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเที่ยวบินในประเทศ ส่วนคนที่เดินทางจากต่างประเทศนั้นควรตรวจหาโควิด และผ่านระบบการคัดกรองกักตัว 14 วัน ไม่ควรลดวันกักตัว ระหว่างการเดินทางในเครื่องบิน ควรใส่หน้ากากไว้ตลอดน่าจะปลอดภัย ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากถอดหน้ากาก เช่นระหว่างการกินอาหารและเครื่องดื่ม เที่ยวบินระยะสั้นย่อมเสี่ยงน้อยกว่าระยะยาวที่มีการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม