บทความพิเศษ: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) บ้านเมืองเกือบ 20 ปีที่แล้วเป็น “สองนคราประชาธิปไตย” คือ ประชาธิปไตยของคนชั้นกลาง และ ประชาธิปไตยของคนชนบท สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีสองขั้วสองกลุ่มสองฝ่าย แต่ท้ายที่สุดเป็นเพียงการต่อสู้ทางความคิดของคนแค่สองกลุ่มคือ ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายหัวก้าวหน้า ที่ปัจจุบันยังคงเถียงกันไม่จบ ลองย้อนความไปถึงศักดินาของสังคมไทยแต่อดีต (1) ชนชั้นสังคมไทยอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันแยกเป็น (1) ศักดินา (2) อำมาตย์ (3) ประชาราษฎร (4) ไพร่ (5) ทาส มีผลต่อการถือครองที่ดิน บ้าน และพัฒนาการของครอบครัว คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นไพร่หรือ เดิมเรียก “ส่วย” มีการเกณฑ์แรงงาน ส่งส่วยเป็นทรัพย์สินแทนแรงงาน ปัจจุบันไม่มีแล้ว เหลือเพียงการเกณฑ์ทหาร ส่วนประชาราษฎรนั้นคือคนต่างชาติ เช่น คนจีน ฝรั่ง หรือ อำมาตย์ ศักดินาที่ถูกลดชั้นลงคนจีนไม่เป็น ไพร่ หรือทาส จึงมีโอกาสทำมาค้าขายทำธุรกิจอิสระ สะสมทรัพย์สินได้ ต่างจากคนไทยที่เป็น “ส่วยไพร่” หรือ “ทาส” มาก่อน ส่งผลต่อความล่าช้าในการพัฒนาครอบครัวและการสะสมทรัพย์สิน เงื่อนไขที่ ไพร่ ทาส จะเลื่อนชั้นทางสังคมมี 2 วิธี คือ (1) การบวช และ (2) การรับราชการ บรรพบุรุษชนชั้นไพร่จึงให้ ลูกหลานเข้ารับราชการ มาระยะหลังคนอีสานเอาอย่างคนจีนหันมาทำอาชีพอิสระเปิดร้านขายส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ ก้อย อาหารพื้นบ้าน ฯลฯ เช่น ไก่ย่างวิเชียร ลาบยโส ลาบเป็ดอุดร แจ่วฮ้อนสารคาม ไส้กรอก หม่ำ ขอนแก่น กบทรงเครื่องสุรินทร์ ข้าวหลามอุดร สารคาม แมงทอด ถั่วต้ม ข้าวโพดต้ม สาโทหวาน ฯลฯ (2) โครงสร้างชนชั้นสังคมไทย และการทะลุกรอบชนชั้น มีปัจจัยที่สำคัญคือ สังคมไทยแยกชนชั้นด้วย (1) คำพูด และ (2) การปฏิบัติต่อกัน ในระหว่างการคนต่างชนชั้น เพื่อการได้รับสิทธิพิเศษจากกฎหมาย หรือจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย ในกระบวนการทางสังคม มีชนชั้นหนึ่งที่พยายามทะลุกรอบชนชั้น คือ “ชนชั้นนำ” (Elite) ที่ไต่เต้าคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนกลุ่มอื่น ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ดี เป็นคนชนชั้นกลาง (Middle class) และตนเองเป็นผู้ชี้นำสังคม An Inconvenient Truth : สองขั้วพรรคราชการกับพรรคราษฎร (1) สังคมไทยเป็น “รัฐราชการ” (Bureaucratic Polity) เป็นที่เข้าใจว่า “พรรคราชการ” ต้องนิยมอำนาจ หรือตกเป็น “ฝ่ายอำนาจนิยม” ไปโดยไม่รู้ตัว พวกเขากลัวถูกเปลี่ยนสถานะจากที่เขามีอยู่ (Status quo) หรือกลัวถูกลดสถานะลง เพื่อความอยู่รอดของพวกตน “พรรคราชการ” โดยอำมาตย์ศักดินา จึงไปยึดอำนาจรัฐที่มีแนวนโยบายต่างจากพวกตน เช่นแนวทาง “ประชานิยม” (Populism) พรรคราชการจึงเป็น “เผด็จการ” ต่อราษฎร ต่อคนทั่วไป ต่อคนรากหญ้า และ คน อปท. (2) ตรงข้ามกับพรรคราชการก็คือ “พรรคราษฎร” ในที่นี้หมายรวม ราษฎรทั่วไปคนรากหญ้า และ อปท. ที่ต้องใช้นโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจมาเป็นพวก คนกลุ่มนี้มองเห็นต่างจากกลุ่มพรรคราชการ เช่น มอง “การบริหารรัฐวิสาหกิจ” ว่า “ขายชาติ” พรรคราษฎรจึงถูกว่าเป็น “เผด็จการต่อราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมกลุ่มทุนผูกขาด” ที่เป็นพวกเดียวกัน เป็นมิติการมองคำว่า “เผด็จการ” ที่ต่างตรงข้ามกันของคนสองกลุ่ม (3) กรณีของ อปท. เมื่อผสมโรงกับ “การกระจายอำนาจ” ด้วยการถ่ายโอนบุคลากรครู หมอ หน่วยงานช่างอื่นลงสู่ อปท. รวมถึง การปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมใหม่เพื่อรองรับการถ่ายโอน จึงสะเทือนถึงราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เคยอยู่สุขสบายมาก่อน จะต้องสูญเสียอำนาจบารมีไป (4) ยิ่งนึกยิ่งชวนคิดสงสัยว่า กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่รัฐบาลในสมัยหนึ่งได้ประกาศสงครามและปราบปรามอย่างรุนแรงที่จริงแล้วพวกมันคือใคร หากคิดในทางร้ายก็คงหมายถึง บรรดาข้าราชการ หรือผู้มีอิทธิพลในสังคม ที่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ คือผู้อยู่เบื้องหลังยาเสพติดอิทธิพลนั้น เพราะเมื่อก่อนยาบ้าเม็ดละ 400 บาท ปัจจุบันเศรษฐกิจตกต่ำยาบ้าเหลือ 5 เม็ดร้อยทำให้พวกนี้ขาดรายได้ไปทันตา สองขั้วสองพรรคไม่ตกยุคยังคงอยู่ (1) ขอเปรียบกลุ่มคน “เสื้อแดง” (Red Shirt) ในเชิงสัญลักษณ์ของ “พรรคราษฎร” คนรากหญ้า (รวมคน อปท.) ที่ ปัจจุบันความเป็นเสื้อแดงยังไม่ได้จางหายไป พวกเขาเห็นความเหลื่อมล้ำว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกเอาเปรียบจากพวก “ชนชั้นนำ” (Elite) เปรียบเช่น คนกลุ่มพันธมิตร กลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่ม กปปส. โดยมีผู้ชี้นำให้ท้ายอยู่เบื้องหลังจาก “พรรคราชการ” ที่เป็น “ฝ่ายอำนาจนิยม” (2) ช่วงวิกฤติความวุ่นวายทางการเมือง (ปี 2548-2557) มีแนวคิดต่างสองขั้ว ฝ่ายนักวิชาการเทคโนแครตที่ไม่พอใจรัฐบาลเป็นทุนเดิมออกมาให้ท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมและต่อต้านรัฐบาล (Pro-regime) จนกลุ่มผู้ชุมนุมขยายวงกว้างเป็น “กลุ่ม กปปส.” ในที่สุดอย่างผสมกลมกลืน แม้อีกฝ่ายมองว่าการอ้างสถานการณ์วิกฤตินั้นไม่สมเหตุผลนัก แนวคิดประชาธิปไตยที่ตรงข้ามสองฝ่าย (1) ความไม่สมบูรณ์ของ “ประชาธิปไตย” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่รณรงค์จั่วหัวการลงว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่ผ่านพ้นคะแนนประชามติเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย แม้มีส่วนในการปราบโกงแต่หลักการอื่นหลายประการขัดแย้งต่อหลักการตรวจสอบ หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) อันเป็นหลักสากลประชาธิปไตยแห่งอารยประเทศ กล่าวคือ กลับด้านกลับทางกัน เพราะปัจจุบันคำว่า “ความยุติธรรม ความถูกต้องชอบธรรม ความเป็นธรรม” ล้วนมีความหมายเดียวกันมากยิ่งขึ้น (2) ฝ่ายคัดค้านความเป็น “ประชาธิปไตย” (Democracy) ว่า “สิ้นเปลืองงบประมาณ” มีต้นทุนสูง เสียเวลา เพราะ ประชาธิปไตยต้องมีต้นทุนในตัวของมันเองเสมอ ไม่ต้องไปวิตกในต้นทุนที่จะเสียไปนั้น ตามที่วิตกกัน เงื่อนไขทางตรงข้ามต่างหากที่จะทำให้เกิดต้นทุนแห่งประชาธิปไตยสูงมากขึ้น เช่น ค่างบประมาณด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย ค่างบราชการลับ งบ กอ.รมน. ค่างบบริหารจัดการ ค่างบบุคลากรฯ ฯลฯ เป็นต้น (3) อีกฝ่ายรวมๆ กันไม่ว่า ฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายคอนเซอเวทีฟ ฝ่ายหัวเก่า ฝ่ายรอยัลลิสต์ ฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายอีลิท ฝ่ายสลิ่ม ฝ่ายนักวิชาการเทคโนแครตตกขอบ ฯลฯ ขอรวมเรียกว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” (Authoritarianism) เป็นคำเชิงสัญลักษณ์ที่พอเข้าใจได้อย่างง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การไปสื่อเชิงสัญลักษณ์ ดังกล่าว ก็ถูกโต้แย้งว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” “พวกซ้าย” “พวกเสื้อแดง” (4) การเปรียบเทียบแนวคิดสองขั้วในระยะหลังที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีการสื่อใส่ร้ายป้ายสี (Bully) พูดกระแนะกระแหน ระราน กล่าวหา ดูถูกดูแคลน ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีกองเชียร์ที่มากพอ ยิ่งสร้างความแตกแยกหนักขึ้น ด้วยการไม่ยอมรับใน “ความเห็นต่าง” หรือ แม้แต่ “การรับฟังเสียงข้างน้อย” (Majority Rule/Minority Rights) เสมือนการ “สาดน้ำมันเข้ากองไฟ” การถูก “ทัวร์ลง” ถูกแอนตี้ ถูกแบน ถูกบูลลี่ (Bully) ฯลฯ ตกเป็นจำเลยของสังคม ถือเป็นสิ่งปกติ ต้นทุนทางสังคมไทยแข็งแกร่งเสริมสร้างการปกครองท้องถิ่นได้ (1) ท่ามกลางวิกฤติสถานการณ์โรคระบาดอุบัติใหม่ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากทั่วโลก ในฐานะเป็นประเทศหนึ่งซึ่งสามารถควบคุมรับมือสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีจนได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการรับมือจากโรคอุบัติใหม่ได้สะท้อนผ่านภาพ “ทุนทางสังคม” (Social Capital) ในประเทศไทย ด้วย “ต้นทุนทางสังคมไทย” ที่มีอัตลักษณ์ในด้านความมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี และจิตสาธารณะ (Public Mind) ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของจิตอาสาต่างๆ รวมถึงกลุ่มทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน และองค์กรชุมชนภาคประชาสังคม ระดมพลังคนจนเมืองทำครัวชุมชนสู้พิษเศรษฐกิจ-โควิด แจกจ่ายข้าว-อาหารกว่า 1 แสนกล่อง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้โดยปราศจากความร่วมมือจากภาคประชาชน (2) ทุนทางสังคม มีความสำคัญกับทุกมิติของชีวิตมนุษย์ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกประเทศทั่วโลกว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ในประเทศฟินแลนด์ได้รับการยอมรับว่ามีระดับทุนทางสังคมในระดับสูง นำไปสู่ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก บนพื้นฐานความไว้วางใจระหว่างบุคคลและทางการเมืองในทุกระดับ มีความสำคัญในการพัฒนาชุมชน ด้วยปัจจัยความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม ด้วยกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของท้องถิ่นและความเป็นอิสระของท้องถิ่นที่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายท้องถิ่น เช่นเดียวกันประเทศญี่ปุ่น (3) “การมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยมีผลต่อการเพิ่มทุนทางสังคมในประเทศ” ทุนทางสังคมเกิดจากการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับชุมชนตามระบอบประชาธิปไตย เน้นหลักการปกครองตัวเอง โดยเน้นกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับสูง ตัวอย่างเช่น ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947) ในทางกลับกัน สังคมที่ปราศจากทุนทางสังคมจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ดังเช่น สงครามกลางเมืองสเปน (1936) เนื่องจากสังคมสูญเสียทุนทางสังคม จากเหตุขัดแย้งทางการเมือง การปกครองด้วยระบอบเผด็จการที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการทุจริตเลือกตั้ง และ ที่เลบานอน (2019) มีการประท้วงขับไล่รัฐบาล เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันและเศรษฐกิจตกต่ำ (4) “ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นฐานความไว้วางใจต่อกัน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างทุนทางสังคมอันจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การให้ความสำคัญและไว้วางใจประชาชนโดย “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องการกระจายอำนาจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความไม่พร้อมทางด้านบุคลากร ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการชะลอการกระจายอำนาจเรื่อยมา มีคำถามย้อนว่า จากสถานการณ์วิกฤติโควิดที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของภาคประชาชนและท้องถิ่น และเพียงพอที่จะพิสูจน์ถึงความเข้มแข็งและความพร้อมของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขจัดการปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้ ภาครัฐมีความจริงใจพร้อมหรือยังที่จะปล่อยอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ของตนด้วยตนเอง หลายครั้งที่ผ่านมา “ชวนให้คนท้องถิ่นอดคิดไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วใครกันที่ไม่พร้อมจะกระจายอำนาจ” บทวิพากษ์นี้ตั้งใจให้ ฝ่ายอำนาจรัฐ พึงตระหนักไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ฝ่ายอำนาจนิยมหรือไม่ก็ตามว่า “ท้องถิ่นยังคงมีความสำคัญต่อองคาพยพของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอ”