ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
เสือเป็นคนฉลาด เรียนรู้เร็ว และปรับตัวได้ทุกสถานการณ์
ที่บ้านสวนพลูมีเด็กรับใช้อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับเสืออีก 2 คน คนหนึ่งไปช่วยน้าละมัยคนทำสวนดูแลรดน้ำและตัดแต่งต้นไม้ดอกไม้ อีกคนหนึ่งไปเป็นลูกมือพี่สละช่วยงานที่ใต้ถุนเรือนใหญ่ ส่วนเสือเริ่มชีวิตที่บ้านสวนพลูด้วยการเป็นผู้ช่วยแม่ครัว และด้วยความเป็นคนเอาใจใส่ ทำให้เป็นที่เอ็นดูของป้าจำรัส ทั้งยังได้ช่วยงานน้าเชื่อมให้คอยทำความสะอาดรถในทุกๆ วัน บางครั้งก็พาออกไปลองรถ จึงทำให้เสือสามารถขับรถได้ในเวลาต่อมา และพออายุได้ 18 ปี น้าเชื่อมก็พาไปทำใบขับขี่ เพื่อเป็น “มือขับสำรอง” ช่วยน้าเชื่อมขับรถไปจ่ายตลาดและซื้อข้าวของต่างๆ ตามที่ป้าจำรัสต้องการนั้นด้วย
การใช้คำนำหน้าของคนในบ้านสวนพลู เป็นไปตามที่ “คุณชาย” (คือชื่อที่คนในบ้านสวนพลูเรียก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของบ้าน)จะกำหนด โดยไม่ได้ลำดับเรียงวงศาคณาญาติตามแบบที่สังคมไทยเขานับกันแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่จะเรียกตามที่คนในบ้านเขาเรียกกันเอง เช่น เด็กๆ จะเรียกพวกผู้ชายที่อาวุโสในบ้านว่า เช่น น้าเชื่อม น้าสละ น้าละมัย และเรียกภรรยาน้าเชื่อมว่าป้าจำรัส เป็นต้น ส่วนเด็กๆ ในบ้าน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะเรียกว่า “พี่” ทุกคน ทั้งๆ ที่เด็กๆ เหล่านี้มีอายุยังไม่ถึง 20 ปี ซึ่งคำว่า “พี่” นี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะใช้เรียกผู้ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมโดยทั่วไป นัยว่าทำให้ดูเป็นกันเอง และดู “น่ารัก”
ในบ้านของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีสัตว์เลี้ยงอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะสุนัขที่เจ้าของบ้าน “โปรด” เป็นพิเศษ ทั้งพันธุ์ไทย พันธุ์ฝรั่ง และพันธุ์ทาง โดยมีครอบครัวสุนัขไทยอยู่ครอบครัวหนึ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เอามาเลี้ยงตั้งแต่ที่ตัวแม่ยังอยู่ที่ระยอง คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปได้ตัวแม่มาจากชายหาดแหลมแม่พิมพ์ ในคราวที่ไปพักผ่อน ณ “กระท่อมริมหาด” ในครั้งหนึ่ง (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการอยู่ด้วย ได้ไปตรวจงานธนาคารทางชายฝั่งทะเลตะวันออก แล้วให้ผู้จัดการธนาคารที่ระยองพาไปเที่ยวหาดแม่พิมพ์ โดยบอกว่าจะไปไหว้ “สุนทรภู่” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อ่านมาว่า สุนทรภู่ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง “พระอภัยมณี” จากที่หาดแม่พิมพ์นี้ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้มาพักที่กระท่อมของชาวประมงริมหาดแม่พิมพ์ และด้วยการโอภาปราศรัยที่ชอบพอกัน คุณลุงชาวประมงเจ้าของบ้านจึงเสนอยกที่ดินส่วนหนึ่งให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่ท่านก็จ่ายเงินเป็นค่าที่ดินตรงนั้นให้ตามสมควร แล้วมาปลูกกระท่อมขึ้น เรียกว่า “กระท่อมริมหาด” ดังกล่าว) เจอหมาไทยหลังอาน เพศเมีย ขนสีดำ เดินหากินปูปลาอยู่ที่หาดทราย ชาวบ้านบอกไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ รู้แต่ว่าเทือกเถาเหล่ากอเป็นหมามาจากจันทบุรี ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นเข้าก็ชอบ เลยเอามาเลี้ยงที่บ้านสวนพลู พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า “แม่หัวแหวน” อันเนื่องด้วยเป็นหมาที่มาจากเมืองจันทบุรี แหล่งเหมืองพลอยหลายชนิดที่เขาเอามาทำหัวแหวนนั้นเอง
แม่หัวแหวนเป็นหมาที่เรียบร้อย เป็นที่รักใคร่ของทุกคนที่บ้านสวนพลู ต่อมามีลูกศิษย์คนหนึ่งเอาไปผสมกับพ่อพันธุ์ที่เป็นหมาไทยด้วยกัน มีลูกออกมาจำนวนหนึ่ง(ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้บอกว่ามีลูกทั้งหมดกี่ตัว) พอหย่านมก็ให้ญาติที่มาขอเอาไปช่วยกันเลี้ยง เหลือไว้เพียงลูกหมาสีดำๆ 2 ตัว ที่ท่านอาจารย์เหลือเอามาเลี้ยงไว้ด้วยกัน ตัวหนึ่งตัวอ้วนมาก จึงได้ชื่อว่า “เสือบวม” และอีกตัวหนึ่งดูสะโอดสะอง ก็ให้ชื่อว่า “เสือใบ” โดยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ชื่นชอบนิยายเกี่ยวกับ “เสือๆ” คือโจรปล้นมีชื่อต่างๆ ที่ ป. อินทรปาลิต แต่งขึ้น และเป็นที่นิยมอ่านกันมาก เช่นเรื่องเสือดำ และเสือใบ จนท่านได้เอามาตั้งเป็นชื่อสุนัขตัวโปรดของท่าน (ต่อมามีคนเอาสุนัขพันธุ์บาสเซ็ตฮาวด์มาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ อายุใกล้เคียงกันกับเจ้าเสือใบ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งชื่อว่า “สามสี” เพราะมีสีขน 3 สี คือเหลือง ดำ และน้ำตาล ซึ่งเป็นสุนัขทั้งสองนี้ได้กลายเป็น “สุนัขดูโอ” ที่มีชื่อเสียงมากในยุคที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี)
ในตอนที่เสือมาอยู่บ้านสวนพลู เป็นช่วงที่เจ้าเสือใบเกิดพอดี รวมกับสุนัขตัวอื่นๆ ที่เลี้ยงไว้ก่อนหน้าอีก 10 กว่าตัว เสือจึงได้รับมอบหมายให้เป็นคนนำอาหารเอาไปเลี้ยงสุนัขเหล่านั้นด้วย นี่คือเหคุที่ทำให้เสือได้เข้ามาใกล้ชิดกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เพราะต้องเอาอาหารมาให้ “สามสี – เสือใบ” ที่อยู่ “แนบตัว” กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตลอดเวลา และเมื่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้สนทนากับเสือก็รู้สึกชอบนิสัย จึงให้เสือยกสำรับกับข้าวจากหลังบ้านที่เป็นครัว มาที่ใต้ถุนเรือนใหญ่เป็นประจำทุกวันนั้นด้วย
เริ่มต้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เรียกเสือว่า “พี่เสือ” ตามปกติ แต่บ่อยครั้งเจ้าเสือใบมักจะทึกทักว่าเป็นการเรียกชื่อของเขา จึงเข้ามาหาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตามเสียงเรียกว่าพี่เสือนั้นเสมอๆ ท่านจึงต้องตั้งชื่อเสือให้แตกต่าง โดยลองเรียกว่า “พี่เสือใหญ่” ก็ดูเสือใบจะสงบลง และเข้าใจว่าคุณชายนั้นเรียกใคร (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใช้คำเรียกแทนตัวเองเวลาสนทนากับสุนัขทุกตัวว่า “คุณชาย” และสุนัขก็เข้าใจเหมือนกันทุกตัวว่าคำว่าคุณชายนี้ก็คือ “เจ้านาย” นั่นเอง) ต่อมาทุกคนก็เรียกเสือว่า “พี่เสือใหญ่” ตามชื่อใหม่ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นตั้งให้ แต่ก็ดูเหมือนจะสร้างความตกอกตกใจให้กับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่เสมอ เวลาที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกหาพี่เสือใหญ่ เพราะบางคนก็เข้าใจว่าเป็นสุนัขอีกตัวหนึ่ง แต่บางคนก็นึกว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เลี้ยง “ไอ้เสือ” ที่เป็นโจรจริงๆ ไว้ในบ้าน
ตอนที่ผมไปทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่บ้านสวนพลู ผมเพิ่งสำเร็จปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่เสือใหญ่ก็มีอายุห่างจากผมไม่มากนัก จึงทำให้เราสองคนค่อนข้างจะสนิทสนมกัน เพราะจะถูกใช้ให้ไปซื้อของที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สั่งอยู่เป็นประจำ โดยพี่เสือใหญ่จะเป็นคนขับรถให้ผมทุกครั้ง แต่พี่เสือใหญ่เป็นคนที่ไม่ค่อยพูดเท่าไหร่ แบบถามคำตอบคำ จนน่ารำคาญ ส่วนมากจะยิ้ม และพูดแค่คำว่า “ครับๆๆ” เท่านั้น
ภายหลังจึงมาทราบว่า พ่อแม่ของเสือสอนไว้ว่า “อยู่กับเจ้ากับนายต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัว”