ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: เมืองไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ละท้องถิ่นย่อมมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งในด้านวิถีชีวิต ประเพณี อาหารการกิน ไปจนถึงศิลปะการแสดง ที่สืบทอดส่งต่อกันมาครั้งบรรพบุรุษ
อย่างเช่นที่ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ที่ตั้งของชุมชนชาวไทยพวนที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม มีการรวมตัวกันของ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านฝั่งคลอง ชุมชนบ้านท่าแดง ชุมชนบ้านเกาะหวาย และชุมชนบ้านใหม่ โดยมีวัดฝั่งคลอง (พระครูวิริยานุโยค เจ้าอาวาสวัดฝั่งคลอง) เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางวัฒนธรรมของทั้ง 4 ชุมชน (บ้าน วัด โรงเรียน หรือบวร) ทั้งเป็น 1 ใน100 ต้นแบบสุดยอดชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรม ปี 2563 อีกด้วย
ในความเป็นชุมชนของชาวไทยพวนปากพลี พบว่ามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาดำเนินชีวิต คนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความภาคภูมิใจในวิถีแห่งชาติพันธุ์ไทยพวน ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ที่สำคัญวัดฝั่งคลองมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและประวัติของชาวไทยพวนนครนายก ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้ได้รับการพัฒนาให้เป็น มิวเซียม ปะพวนที่ปากพลี
ที่วัดฝั่งคลอง มีผู้มาเยือนอยู่เสมอๆ มีทั้งที่มาเป็นหมู่คณะจากชุมชนที่ต่างๆ รั้วสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น เอกชน ดูแนวทางความสำเร็จของการดำเนินงาน ศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงจุดด้อย พัฒนาสู่จุดเด่นของแต่ละชุมชนตนเอง และนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเรือนไทยพวน ผ้าทอไทยพวนโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ครัวเรือน วิถีเกษตร วิถีประเพณี ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ บอกเล่าถิ่นฐานพวนปลากพลี ฯลฯ จัดแสดงในรูปนิทรรศการถาวรในมิวเซียม
ถ้ามากันเป็นหมู่คณะ วัดมีลานวัฒนธรรมไว้จัดกิจกรรมต้อนรับ โดยผู้นำชุมชน ครู-นักเรียน และชาวบ้านมาร่วมกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งในด้านชุดแต่งกายไทยพวน สนทนาภาษาพวน ศิลปะการแสดง ลำตัด รำโทน ลำพวน อันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับแขก จัดเลี้ยงอาหารโตกไทยพวน ออกร้านนำผลิตภัณฑ์สินค้าทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ผักสดปลอดสารพิษ ปลาดูทอดสมุนไพร ขนมข้าวกระยาคู ขนมกระยาสารท มาวางจำหน่ายให้แก่ผู้มาเยือนได้เลือกซื้อหาหิ้วกลับบ้าน หรือซื้อเป็นของฝากญาติสนิทมิตรสหายยิ่งดี
นอกจากลานกิจกรรมทางวัฒนธรรมต้อนรับผู้มาเยือนแล้ว ชาวไทยพวนปากพลียังสืบสานอนุรักษ์ประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เมื่องานบุญประเพณีมาถึง เช่น ประเพณีบุญทานข้าวจี่ - วิถีไทยพวน ประเพณีสงกรานต์ไทยพวนปากพลี เป็นต้น เหล่านี้เป็นความร่วมไม้ร่วมมือที่เกิดจากคนในชุมชน ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร อันเป็นวิถีที่ดำเนินมาตลอด ทั้งต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในรูป บวร On Tour บริการทางวัฒนธรรม สร้างชื่อเสียงชุมชน ทำให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ และมาซ้ำอีก ส่งผลให้เกิดรายได้เศรษฐกิจชุมชน
ไปเที่ยวนครนายก อย่าลืมแวะแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชาวไทยพวนปากพลี วัดฝั่งคลอง ยินดีต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ