ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง ภาพ: สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล "ก่อนถึงงานพระราชพิธีฯ งานสร้างพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9" การสร้างพระเมรุมาศเป็นงานสถาปัตยกรรมชั่วคราว แสดงภูมิปัญญาช่างอย่างสูง ดังนั้น “โบราณจึงมีคำยกย่องว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้สร้างสรรค์ออกแบบและก่อสร้างพระเมรุมาศถือว่าผู้นั้นเป็นผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ โดยช่างที่ทำพระเมรุมาศต้องมีครูบาอาจารย์ ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร เพราะแต่ละสิ่งที่สร้างสรรค์ล้วนเป็นเกิดจากการกลั่นกรองออกมาจากความสามารถของช่างทั้งสิ้น ซึ่งความคิดนั้นจะต้องมีปรัชญาและหลักเกณฑ์ในการคิดเสมอ ผู้ออกแบบต้องคำนึงตลอดเวลาว่าพระเมรุมาศที่สร้างนั้นเป็นของพระองค์ใด แล้วจะต้องถ่ายทอดพระลักษณะและฐานะของเจ้านายพระองค์นั้นออกมาให้ปรากฏ เช่น ความเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี นักรบ รวมทั้งการให้ลวดลายสีสันพระเมรุมาศจะต้องสอดคล้องกับสีที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นสำคัญ อีกทั้งช่างต้องสามารถบอกถึงความเป็นมาของลวดลายและส่วนก่อสร้างที่ตนคิดประดิษฐ์ไว้ในทุกตำแหน่งงานได้อย่างมีหลักเกณฑ์ตามวิชาการของช่างด้วย” (วัฒนรักษ์ “รฦก” มี.ค. 60) ในการสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวง รัชกาลที่ 9) สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอด องค์ประธานพระเมรุมาศมีขนาดใหญ่สูงถึง 50.49 เมตร ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 โดย ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้อธิบายไว้ในเอกสาร “สถาปัตยกรรมเนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ” ดังนี้ “องค์พระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอดบนชั้นฐานชาลาย่อมุมไม้สิบสอง โครงสร้างภายในเป็นเหล็กแบบยึดด้วยน็อต ฐานรากโครงสร้างแบบใช้พื้นดินรับน้ำหนักโดยไม่มีเสาเข็ม องค์พระเมรุมาศปิดผิวประดับด้วยไม้อัด กรุกระดาษทองย่นตกแต่งลวดลายและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มีเทวดาเชิญฉัตรและบังแทรก มีองค์มหาเทพ 5 พระองค์ คือ พระพิฆเนศวร พระอินทร์ พระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์ รายรอบพระเมรุมาศชั้นลานอุตราวรรตมีสระอโนดาดทั้งสี่ทิศ มีน้ำไหลจากสัตว์มงคลประจำทิศ สู่สระอโนดาด ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ บุษบกประธานผังพื้นอาคารเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นฐานเป็นฐานสิงห์ เหนือฐานสิงห์เชิงบาตร ชั้นที่หนึ่งเป็นชั้นครุฑยุดนาค เชิงบาตรชั้นที่สองเป็นชั้นเทพพนม เครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนเจ็ดชั้น บนยอดสุดปักนภปฎลหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) โถงกลางภายในเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศ ติดตั้งฉากบังเพลิงทั้งสี่ทิศ เขียนรูปพระนารายณ์อวตารในปางต่างๆ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้งสี่ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดตั้งลิฟท์ที่ชั้นฐานชาลาแต่ละชั้น ทางด้านทิศเหนือของพระเมรุมาศ มีสะพานเกรินสำหรับใช้เป็นที่เคลื่อนพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ มีท้าวจตุโลกบาลประทับยืนที่มุมฐานชาลาหันหน้าเข้าสู่บุษบกประธาน มีเทวดาคุกเข่าถือบังแทรก ฐานชาลาชั้นที่ 2 เป็นฐานปัทม์ที่ตั้งของบุษบกหอเปลื้องเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนห้าชั้น จำนวน 4 องค์ ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่ที่ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์และอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี ฐานชาลาชั้นที่ 3 เป็นฐานสิงห์เหนือฐานสิงห์เป็นฐานเชิงบาตรท้องไม้มีเทพชุมนุมโดยรอบจำนวน 108 องค์ถัดขึ้นไปเป็นบัวเขิงบาตรฐานชั้นนี้เป็นที่ตั้งของบุษบกซ่างเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนห้าชั้น จำนวน 4 องค์ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับนั่งอยู่ประจำบุษบกซ่างโดยจะผลัดกันสวดในการสวดพระอภิธรรมโดยจะผลัดกันสวดที่ละซ่างเวียนกันไปตลอดงานพระเมรุมาศ ลักษณะพระเมรุมาศพิเศษสุด แสดงศิลปกรรมล้ำเลิศเฉลิมพระบารมียิ่งใหญ่ไพศาลพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ดำรงสิริราชสมบัติยาวนานที่สุด และสถิตย์อยู่ในหัวใจของชาวไทยนิจนิรันดร์” การก่อสร้างพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ได้เริ่มมาตั้งแต่พิธีปักหมุดฐานราก (26 ธ.ค. 59) ยกเสาเอก (27 ก.พ. 60) ดำเนินการขึ้นโครงสร้างเรื่อยมาแล้วเสร็จ และเวลานี้ดำเนินการงานสถาปัตยกรรม “โดยวางเป้าหมายงานสถาปัตยกรรมของพระเมรุมาศทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม ก่อนจะทำการประดับผ้าทองย่นในช่วงเดือนสิงหาคม” ก่อเกียรติ ทองผุด กล่าวภาพรวมงานสถาปัตยกรรม (26 มิ.ย. 60) ก่อเกียรติได้กล่าวถึงงานออกแบบลายผ้าทองย่นประดับพระเมรุมาศว่า “สำหรับลายที่จะใช้ในงานประดับครั้งนี้ ถือเป็นการคัดสรรลายพิเศษ เป็นลายชั้นสูงสำหรับพระมหากษัตริย์อย่างสมพระเกียรติยศ เช่น ลายก้ามปู ก้านแย่ง ลายลูกฟัก และลายก้านต่อ ถือเป็นลวดลายเอกลักษณ์ที่รังสรรค์เพื่องานพระเมรุมาศโดยเฉพาะ ซึ่งลายก้านต่อนี้ จะใช้เกือบทุกส่วนสำคัญของพระเมรุมาศ ทั้งที่บริเวณฐานสิงห์ บัวฐาน เสาหัวเม็ด โดยลักษณะของลายก้านต่อจะเป็นการต่อลายกันอีกอย่างน้อย 3 ลาย เช่น ลายดอกไม้ ใบเทศน์เปลว กับหน้าเทพพนม เพื่อให้การประดับต่อกันขึ้นไปให้เกิดความงดงามที่สุด” ขณะที่งานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศเดินตามแผนงาน ด้านภูมิสถาปัตยกรรมได้มีการทดลองติดตั้งประติมากรรมประดับพระเมรุมาศบางส่วน พร้อมแท่นฐานที่ดำเนินการลงสีเสร็จแล้ว เช่น สัตว์ประจำทิศ ม้า เทวดานั่ง เทพชุมนุม และราวบันไดนาคชั้นที่ 1 รวมทั้งสัตว์หิมพานต์จำนวนหนึ่ง ทดลองตั้งบนโขดหินเทียมในสระอโนดาต “เพื่อที่ดูระยะการจัดวางและความสูงที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดขอบเขตทางขึ้นพระเมรุมาศให้สวยงามมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นได้หารือเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จริง เช่น ปรับลดแท่นฐานม้าลงประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ม้าสูงกว่าพนักและบดบังราวบันไดนาคชั้นที่ 1 ขณะเดียวกันทดลองประดับเทพชุมนุม ขนาดสูง 80 เซนติเมตร เพื่อกำหนดสีท้องไม้เมรุประธาน และลวดลายกระดาษทองย่น เพื่อให้ประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 108 องค์ โดดเด่นและงดงามยิ่งขึ้น รวมถึงมหาเทพทั้ง 5 องค์ ต้องเห็นเต็มองค์ ส่วนเขามอประดับสระอโนดาต ทดลองติดตั้งพื้นที่จริง มีการปรับแก้ไข จะขยับเข้ามาชิดฐานพระเมรุมาศ เพื่อให้เขามอลดความแข็งกระด้างของเส้นและเสริมภูมิทัศน์ ดั่งเขาพระสุเมรุจริงๆ ซึ่งมีป่าหิมพานต์และสระอโนดาตรายรอบ” ก่อเกียรติ นายช่างศิลปกรรม ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ กล่าว การก่อสร้างพระเมรุมาศ ได้เริ่มมาตั้งแต่พิธีปักหมุด และดำเนินการโครงสร้างมาถึงงานสถาปัตยกรรม ณ ปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 240 วัน อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงงานทุกส่วนว่า “เวลาที่เหลืออีก 90 วัน ทุกส่วนจะต้องเร่งทำงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้คือภายในเดือนกันยายน” เพื่อเตรียมความพร้อมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ส่วนตรงนี้นำภาพความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอดมาให้ชมกันพลางๆ ก่อนที่สร้างแล้วเสร็จงดงามและสมพระเกียรติ