ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อบนปริญญาบัตรด้วยการฉายรังสีเอกซ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการทำความสะอาดปริญญาบัตร เพื่อสร้างความมั่นใจ เตรียมความพร้อมตามมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และกำจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค การฆ่าเชื้อบนปริญญาบัตรด้วยการฉายรังสีเอกซ์เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำนักงานการทะเบียน จุฬาฯ M3D Laboratory คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยได้มีการนำปริญญาบัตรทั้งหมดบรรจุในกล่อง ลำเลียงบนสายพานเข้าไปฆ่าเชื้อด้วยรังสีเอกซ์ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ รังสีเอกซ์เป็นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่รังสีแบบแตกตัวเป็นไอออนจากการยิงลำแสงอิเล็คตรอนลงบนโลหะต้นกำเนิด การฉายรังสีเอกซ์ในปริมาณรังสีดูดกลืนที่เหมาะสม (10 kGy) สามารถทำลายเชื้อที่ก่อโรคได้ เนื่องจากการแตกตัวของไอออนจากรังสีทำให้สารพันธุกรรมของเชื้อโรคถูกทำลาย เป็นกระบวนการฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแพร่ผ่านได้สูง ไม่ก่อให้เกิดการตกค้าง เป็นกระบวนการที่เสร็จสิ้นในขั้นตอนเดียว ทอลาภ สิทธิวณิชย์ และ สุกัญญา โพธิวิพุฒ นักวิจัย M3D Laboratory คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โดยปกติแล้วรังสีเอกซ์มีความสามารถในการทำลายสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ก่อโรคได้ การฆ่าเชื้อด้วยการฉายรังสีเอกซ์โดยทั่วไปใช้ในการทำความสะอาดเครื่องมือทางการแพทย์ให้ปลอดเชื้อและช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลไม้เพื่อการส่งออกได้ โดยค่าปริมาณดูดกลืนรังสีที่ใช้ในครั้งนี้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ ไม่ก่อให้เกิดกัมมันตรังสีตกค้างสะสม จึงเป็นการยืนยันได้ถึงความปลอดภัย ทีมวิจัยยังได้ทดสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโดยการฉายรังสีเอกซ์ในแบคทีเรียเทียบเคียงที่มีความทนทานต่อรังสีมากกว่าเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่ารังสีเอกซ์มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ทดสอบการเปลี่ยนแปลงของสีกระดาษและหมึกพิมพ์ของปริญญาบัตรทั้งก่อนและหลังการฉายรังสี ด้วยเทคนิค CIE L*a*b จากการทดสอบพบว่าการฉายรังสีส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าสีเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่าการฉายรังสีเอกซ์มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้อย่างปลอดภัยและไม่กระทบต่อคุณภาพสีและหมึกของใบปริญญาบัตร