“ภูมิสถาปนิก”สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเผยลงสีสัตว์หิมพานต์ใช้โทนขาวนวล ด้าน “เพาะช่าง”ทดลองลงสีกุญชวารี ช้างหิมพานต์ที่เหลือลงมือเขียนสีกลางเดือนก.ค. ยึดจิตรกรรมวัดสุทัศน์ฯ-ตำราช้างสมุดไทย ความคืบหน้าจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ประติมากรรมประดับสระอโนดาตพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายพรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากที่นำโขดหินเทียมและสัตว์หิมพานต์มาทดลองวางในสระอโนดาตพื้นที่จริงแล้ว ภาพรวมจะมีการปรับแก้เล็กน้อยเพื่อให้หินเทียมลงตัวกับขอบบ่อสระอโนดาต ส่วนงานปูนปั้นสัตว์หิมพานต์ของเพชรบุรีจะหาวิธีการวิธีซ่อนรอยต่อของเท้าสัตว์เพื่อให้ยึดติดกับหินเทียมอย่างสนิท สำหรับโขดหินเทียมที่เป็นฐานของพระเมรุมาศผู้รับจ้างได้จัดทำเสร็จแล้ว 50% ส่วนสีของโขดหินเทียมได้หารือกับโรงงานผลิตจะต้องปรับให้เป็นสีอมเทาน้ำตาล ขณะที่สีของสัตว์หิมพานต์จะไม่เน้นสีสัน แต่ให้ออกโทนขาวนวล สีของช้างอาจจะเป็นสีชมพูมีสีขาวกลืนอยู่ ทั้งนี้ จะต้องมีการหารือร่วมกับผู้รับจ้างทำโขดหินเทียมกับจิตรกรลงสีสัตว์หิมพานต์ในภาพรวมก่อนลงสีจริง ส่วนการทดลองติดตั้งโขดหินเทียมและสัตว์หิมพานต์พื้นที่จริงครั้งต่อไปคาดว่าอีก 2 – 3 สัปดาห์ “ในส่วนความคืบหน้าของงานสร้างสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้วางโครงสร้างคอนกรีต ฝังระบบน้ำ ระบบไฟไปแล้ว 70% เหลือทำขอบบ่อลักษณะหินขัดออกสีเขียวเพื่อที่เวลาน้ำล้นออกมาจะไม่เห็นขอบบ่อ ส่วนอีก 3 ด้านกำลังวางโครงเหล็กและฝังท่อระบบต่างๆ ไว้ก่อนเทคอนกรีต เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้” นายพรธรรม กล่าว ด้าน นายนิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส หัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า หลังจากกลุ่มสาขาประติมากรรมไทยได้ดำเนินการปั้นต้นแบบช้างหิมพานต์ 10 ตระกูลประดับสระอโนดาตเสร็จแล้ว ทางสาขาวิชาจิตรกรรมไทยจึงได้เข้ามางานเขียนสีทันที โดยเริ่มจากการทดลองลงสีกุญชรวารี ที่ทำการหล่อไฟเบอร์กลาสแล้วเสร็จตัวแรก ซึ่งการดำเนินการจะยึดหลักตามตำราสมุดไทยโบราณ และจิตรกรรมฝาผนังของวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ มีช้างมงคลตามแบบโบราณราชประเพณี โดยกุญชรวารีที่ทดลองลงสีตัวแรกเป็นสีน้ำเงินออกไปทางน้ำทะเลบริเวณหางและครีบที่มีลักษณะของปลาลงสีชมพูประดับสายเส้นปลาแบบจิตรกรรมไทย “การลงสีครั้งนี้จะยึดตามโครงสีโบราณของสัตว์หิมพานต์มีงานตัดเส้นเป็นพิเศษด้วยพู่กันขนยาวแต่บางชนิดอาจจะมีการลดค่าสีลงบ้างเพื่อความสง่างาม เช่น ช้างอุโบสถจะเป็นสีทอง ช้างเหมหัตถีเป็นสีเหลืองอ่อน แต่ละตระกูลมีสีกำกับไว้ ยกเว้นกลุ่มสัตว์หิมพานต์ไม่ได้กำกับสีไว้จิตรกรสามารถระบายได้ตามองค์ประกอบ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเริ่มหล่อ และเริ่มเขียนสีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค. ตั้งเป้าต้นเดือนกันยายนงานจะแล้วเสร็จ” นายนิโรจน์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามได้จัดทำสเก็ตสีของช้าง 10 ตระกูลเสร็จเรียบแล้ว โดยกรมศิลปากรจะมาตรวจความเรียบร้อยของต้นแบบช้างหิมพานต์ 30 ตัว ก่อนที่จะทยอยทำพิมพ์และหล่อไฟเบอร์กลาสเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเขียนสี