พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาการขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย.ออกไปอีก 1 เดือนว่า ทุกคนทราบดีว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจุดประสงค์ใด ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ยังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านของเรา แต่สถานการณ์ในไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศ และนำบทเรียนจากประเทศไทยไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ทั้งนี้ได้กำชับในที่ประชุมวันนี้ ให้มีการป้องกันการลักลอบข้ามมาตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ และให้เข้มงวดมาตรการต่างๆต่อไป เมื่อถามว่า สำหรับการเปิด-ปิดน่านฟ้าของไทย นายกฯ กล่าวว่า ต้องมีการหารือกันต่อไป โดยคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่าจะสามารถผ่อนคลายเรื่องใดบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ ที่ต้องเข้ามาดูแลกิจการในไทย ที่อาจจะเข้ามาในระยะเวลาสั้นๆ จึงต้องหาแนวทางว่าจะดูแลกลุ่มนี้อย่างไร ส่วนกรณีของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในอนาคตก็ต้องเตรียมมาตรการรองรับในเรื่องสถานที่กักตัว ซึ่งรัฐบาลทำงานเชิงรุก ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหารายวัน จึงต้องคิดแผนงานไว้ล่วงหน้า และทำงานบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหมือนกับหลายประเทศที่ใช้ล็อกดาวน์อยู่เช่นกัน เพราะกฎหมายปกติไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ โดยมาตรการทั้งหมดจะมีการชี้แจงภายหลังการประชุมในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เมื่อถามว่า ที่มีการเสนอให้ลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน โดยมีการตรวจหาเชื้อแบบเข้ม 2 ครั้ง เมื่อกักตัวครบกำหนด 7 วัน หากไม่พบเชื้อนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปไหนก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงจำนวนของวัน แต่ต้องไปหาวิธีการว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อภารกิจใด เช่นถ้าเป็นนักธุรกิจที่เข้ามาระยะสั้น อาจจะทำเช่นเดียวกับกรณีของผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ ที่มีทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและฝ่ายความมั่นคงคอยดูแลติดตามตลอด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องวางแผนเพื่อเป็นการเตรียมรับมือ แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนจะต้องเข้าใจ ถ้าไปปลุกระดมให้ไม่เข้าใจกันหรือปฏิเสธกันไปหมด ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญอยากให้ทุกคนมั่นใจในระบบสาธารณสุขของไทย และการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคัดกรองและป้องกันการแพร่ระบาด ถ้าหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่เดือดร้อน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแลทั้งด้านสุขภาพและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ