สุ่มตรวจใน 6 จว.ภาคเหนือ พบ 8 ตัวอย่าง จาก 24 ตัวอย่างมีสารพาราควอตที่ให้เลิกใช้ไปแล้วปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสน้ำปู๋ ชี้แม้จะพบไม่มากก็ตาม แต่ถือว่าผิดก.ม. เรียกร้องก.เกษตรฯทบทวนยกเลิกการใช้พาราควอต-คลอไพริฟอส และให้เร่งถอด ไกลโฟเสตที่ก่อมะเร็ง เมื่อวันที่ 25 ก.ย.63 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างของสารพาราควอตในผลิตภัณฑ์น้ำปู หรือน้ำปู๋ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่ใช้กันทางภาคเหนือ โดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปู 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย.63 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต (paraquat) พบมีการตกค้างของสารพาราควอต 8 ตัวอย่าง จากจำนวน 24 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33 หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การพบสารพาราควอตแม้ว่าจะเป็นปริมาณไม่มาก แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย สันนิษฐานได้ว่า ปูนาที่เก็บมาจากท้องนานั้นปนเปื้อนสารเคมีประเภทพาราควอต จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าแม้จะห้ามการนำเข้า การผลิต และจำหน่ายสารพาราควอตตั้งแต่ 1 มิ.ย.63 ยังพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร ไม่สอดคล้องกับที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูล “ฉลาดซื้อ” ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนา และใช้เป็นเหตุผลพิจารณาให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการประชุมวันที่ 28 ก.ย. ทั้งที่ข้อเท็จจริงการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อเมื่อธ.ค.61 เป็นการสุ่มตรวจปูนาเลี้ยงดองเค็มที่ใช้ทำส้มตำในพื้นที่กทม.และปริมณฑล และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ยังไม่เคยทดสอบน้ำปูหรือน้ำปู๋อาหารของคนไทยภาคเหนือตามที่อ้าง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอยืนยันว่า น้ำปู หรือน้ำปู๋ของ 5 จังหวัด จาก 6 จังหวัด มีการตกค้างพาราควอตถึง 1 ใน 3 จาก24 ตัวอย่างจากทั้งหมดที่ได้ทดสอบ ซึ่งสารพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน อันตรายร้ายแรง การพบตกค้างในอาหารจึงเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งเป็นต้นทุนรักษาพยาบาลของรัฐ ที่ผู้ค้าสารเคมีไม่เคยต้องแบกรับและไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงขอคัดค้านให้ทบทวนการยกเลิกการใช้สารพิษพาราควอตและคลอไพริฟอส และเร่งเพิกถอนไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง” ด้านน.ส.พวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า น้ำปูหรือ น้ำปู๋ เป็นอาหารพื้นเมืองและดั้งเดิมของภาคเหนือ โดยเป็นเครื่องปรุงรสกลุ่มเดียวกันกับกะปิ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น วิธีทำน้ำปูนั้นชาวบ้านจะนำปูนามาล้างให้สะอาด ใส่ใบขมิ้นและตะไคร้โขลกรวมกันจนละเอียด นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำ กรองเอาแต่น้ำปู จากนั้นเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อน 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียว เป็นสีดำ การทำน้ำปูนั้นใช้ปูนามากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะได้น้ำปูเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น หากสามารถสอบถามถึงแหล่งที่มาของปูนาได้ก็จะดี เพราะปูนาที่มาจากฟาร์มเลี้ยงอาจปลอดภัยกว่าปูนาในนาข้าว ที่อาจเสี่ยงพบพาราควอต พบปลิง พยาธิ หรือสารเคมีอื่นๆ ตกค้าง ทั้งนี้ ดูรายละเอียดการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/3504