บทความพิเศษ: “พระนอน...เพราะอะไร?” เรียบเรียง : วัฒนรักษ์ [email protected] ในแวดวงวิชาการด้านพุทธศาสนาศึกษาพบว่าเดิมทีนั้น ไม่มีการสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา ยิ่งเมื่อครั้งพุทธกาลด้วยแล้ว ก็มีแต่เพียงการสร้างปูชนียสถานปูชนียวัตถุไว้เป็นที่บูชาสักการะบ้าง เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์บ้าง แม้หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างพระพุทธรูปไว้บูชาแต่อย่างใด เหตุที่เป็นเช่นนั้น หลายท่านคงเคยได้ยินการอ้างพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว” ซึ่งพอจะสรุปได้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธยึดถือและปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ทรงชี้แนะไว้เป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏว่ามีสร้างพระพุทธรูปใดๆ นับร้อยๆ ปีนับแต่การดับขันธปรินิพพาน ด้วยอาจถือเป็นการล้อเลียนและไม่เคารพพุทธพจน์ หากถามว่า แล้วพุทธศาสนิกชนยุคหลังหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานซึ่งมีศรัทธาและรำลึกถึงพระพุทธองค์อย่างแรงกล้าในยุคนั้นจะทำอย่างไร ก็ต้องบอกว่าเขาก็จะสร้างพระไตรปิฎกเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาออกไปเผยแพร่ หรือไม่ก็สร้างรูปต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า อาทิ สร้างรูปม้ามีฉัตรกางกั้น เป็นสัญลักษณ์แทนการเสด็จออกบวช สร้างรูปบัลลังก์และต้นโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์แทนการตรัสรู้ สร้างรูปธรรมจักรและกวางหมอบเป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงปฐมเทศนา หรือไม่ก็สร้างรูปพระสถูป เป็นสัญลักษณ์แทนการปรินิพพานซึ่งเรียกกันว่า “เจดีย์” ซึ่งแปลว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา พระนอน วัดโพธิ์ บรรดาเจดีย์ในพระพุทธศาสนาล้วนเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วทั้งนั้น โดยตำรากำหนดไว้มีอยู่ 4 ประเภท คือ เจดีย์ที่เจ้าเมืองทั้งหลายสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับแจกหลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เรียกว่า “ธาตุเจดีย์” ส่วนสังเวชนียสถาน 4 ตำบลที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ก่อนจะปรินิพพาน เรียกว่า “บริโภคเจดีย์” แต่ถ้าเป็นที่บรรจุคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา จะถือเป็น “ธรรมเจดีย์” และหากเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า จะเรียกว่า “อุเทสิกเจดีย์” อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่สร้างพระพุทธรูปก็อาจจะเป็นเพราะคติการปั้นรูปบุคคลนั้น เป็นคติความนิยมของชาวตะวันตก ส่วนคนตะวันออกจะมีความเชื่อที่กลับตรงกันข้าม คือเชื่อว่าการปั้นรูปคนในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จะทำให้อายุสั้น เมื่อตายไปแล้วก็ไม่นิยมปั้นรูปขึ้น แม้แต่พระพุทธรูปก็ไม่ยอมสร้าง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นเพราะวัฒนธรรมของพวกกรีก อิทธิพลดังกล่าวน่าจะเริ่มในสมัยที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีกแล้วรุกรานมาจนถึงอินเดีย แล้วตั้งถิ่นฐานถาวรขึ้นที่เมืองคันธาระ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน รวมทั้งบริเวณโดยรอบย่านอัฟกานิสถานและอินเดียตอนเหนือ แต่เมื่อถูกยันไว้แค่แม่น้ำสินธุ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็เสด็จกลับไปมาซิโดเนียใน พ.ศ. 218 และมามีอิทธิพลมากขึ้นในยุคที่พระเจ้าเมนันเดอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในพระนาม “พระเจ้ามิลินท์” ได้บุกข้ามแม่น้ำสินธุเข้าไปยึดครองได้ถึงแม่น้ำคงคาแล้วทรงหันมานับถือพุทธศาสนา ถึงกระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าช่างที่สร้างพระพุทธรูปจะเป็นชนชาติใดก็ตาม แต่พระพุทธรูปเกิดขึ้นมาก็เพราะมีความต้องการของพุทธศาสนิกชนจะสร้างพระพุทธรูปให้เป็นอุเทสิกเจดีย์เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น เมื่อจะให้ช่างทำพระพุทธรูป ก็ต้องอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับพุทธลักษณะประกอบกับพุทธประวัติจากผู้ที่ต้องการสร้างเป็นสำคัญ มิเช่นนั้นช่างก็ไม่สามารถออกแบบอากัปกิริยาเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ ออกมาให้ปรากฏแก่สายตาได้ พระนอน วัดขุนอินทประมูล ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง กิริยาอาการของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้น เท่าที่พบมีอยู่ 4 อิริยาบถหลัก คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ดังหลักฐานในตำนานมูลศาสนา ยืนยันความสนใจของคนสุโขทัยและล้านนาต่อเรื่อง “พุทธอิริยาบถ” ว่า “ในกาลครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าอาศัยซึ่งเมืองพาราณสีเป็นที่โคจรคาม ทรงสำราญอิริยาบถทั้ง 4 ในป่าอิสิปตนะกับด้วยอาริยสงฆ์…” สำหรับคติการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถนอนนั้น ได้มีผู้รวบรวมไว้ทั้งหมด 9 ปางตามรายละเอียดในพุทธประวัติ ได้แก่ ปางทรงพระสุบิน ปางไสยาสน์ ปางโปรดอสุรินทราหู ปางทรงพยากรณ์พระอานนท์ ปางโปรดพระสุภัททะ ปางปัจฉิมโอวาท และปางเสด็จดับขันธปรินิพพานอีก 3 ลักษณะ การสร้างพระนอนส่วนใหญ่มักอยู่ในท่าตะแคงขวา แต่ในประเทศไทยก็ยังมีพระนอนในท่าตะแคงซ้ายปรากฏให้เห็น เช่น ที่ภูค่าว จ. กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพระนอนแบบทวารวดี พระหัตถ์ซ้ายพับขึ้นมารองเศียรแทนที่จะตั้งขึ้นแบบพระนอนในยุคหลังๆ พระบาทซ้อนเกยกัน และพระนอนตะแคงซ้ายที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าประดู่ ในตัวอำเภอเมืองระยอง พระนอนตะแคงซ้าย วัดป่าประดู่ จ.ระยอง การประทับนอนในลักษณะนี้ ไม่น่าจะหมายความถึงการเสด็จดับขันธ์ของพระพุทธเจ้า หากให้สันนิษฐาน อาจเป็นไปได้ว่าผู้สร้างได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวพระพุทธประวัติการแสดง “ยมกปาฏิหาริย์” ของพระพุทธเจ้า คือ ทรงแสดงปาฏิหาริย์สร้างสิ่งคู่ขนานขึ้นมาเพื่อให้เหล่าเดียรถีย์ยอมรับ โดยทรงเนรมิตรพระองค์เองขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง และทรงให้รูปนิมิตรแสดงอาการท่าทางที่สลับกับพระองค์ ดังนั้น เมื่อพระองค์นอนตะแคงขวา รูปนิมิตรก็จะผินพระพักตร์เข้าหากัน เท่ากับเป็นการนอนตะแคงซ้ายไปโดยปริยาย ซึ่งนักวิชาการบางคนตีความว่าอาจจะไม่ใช่รูปพุทธเจ้าไปเลยก็มี