รณรงค์แคมเปญ “PrEP in The City” ระบุแนวโน้มการระบาดของเอชไอวีในไทยจะลดลง แต่ยังพบการติดเชื้อสูงในกลุ่มหญิงข้ามเพศถึง 17% ขณะที่คนกลุ่มนี้เข้าถึงยาตัวนี้ได้แค่ 5% เท่านั้น สร้างความเข้าใจตัวยาในด้านบวก มุ่งหยุดยั้งการระบาดของเอชไอวีในอีก 10 ปีข้างหน้า ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและสนับสนุนนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี พญ.นิตยา ภานุภาค ผอ.บริหาร สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ดร.สตีเว่น จี โอลีฟ ผอ.องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย และนพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผอ.สำนักอนามัย กทม. เปิดตัวแคมเปญ “PrEP in The City” เพื่อรณรงค์และส่งเสริมการเข้าถึงยาเพร็พในประชากรหญิงข้ามเพศในประเทศไทย และส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะเชิงบวกสร้างพลังให้หญิงข้ามเพศใส่ใจสุขภาพตนเอง เป็นพื้นฐานพัฒนาเพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ดร.สาธิตกล่าวว่า การเปิดตัวโครงการ “PrEP in The City” สำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการยุติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะประชากรหญิงข้ามเพศ มีการเปิดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนคนข้ามเพศ พร้อมเสนอให้บริการสุขภาพและเอชไอวีแก่หญิงข้ามเพศด้วยการใช้ “ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี” หรือเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเอชไอวี แม้ปัจจุบันไทยมีแนวโน้มการระบาดของเอชไอวีลดลง แต่ยังพบอัตราการติดเชื้อที่มีความชุกสูง โดยเฉพาะหญิงข้ามเพศที่มีอัตราความชุกของการติดเชื้อสูงร้อยละ 17 และพบว่าหญิงข้ามเพศเข้าถึงยาเพร็พเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและสถานที่ให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายหยุดยั้งการระบาดของเอชไอวีไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขภายในปี พ.ศ.2573 ตามที่ประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบต่อพันธะสัญญานานาชาติ ทั้งนี้ แคมเปญ “PrEP in The City” เป็นโครงการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี และรณรงค์ให้หญิงข้ามเพศได้เข้าถึงยาเพร็พมากขึ้น เพื่อลดอัตราติดเชื้อเอชไอวี ออกแบบและจัดทำโดยหญิงข้ามเพศ ที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนหญิงข้ามเพศจากทั่วประเทศ ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ยาเพร็พในชีวิตประจำวัน และเปิดภาพลักษณ์ของยาเพร็พว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าเป็นยาสำหรับคนที่มีความเสี่ยง การรณรงค์ครั้งนี้มุ่งหวังให้สร้างสภาวะแวดล้อมในสังคมสนับสนุนให้คนหันดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น รวมถึงการลดอคติ ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนข้ามเพศในเมืองไทยอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามได้ที่ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร.0 2590 3215 หรือตรวจสอบรายชื่อสถานบริการที่ให้บริการที่เว็บไซต์ http://buddystation.ddc.moph.go.th/search_store/clinic-prep/page/3/