การได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของน้อง ๆ หลายคน เช่นเดียวกับน้อง ๆ นักเรียนผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ที่มีความฝันอยากจะเรียนต่อคณะ/สาขาวิชา และได้เข้าทำงานในสาขาวิชาที่ตนเองเรียนจบมา นักเรียนพิเศษยังมีอีกหนึ่งความกังวลใจหลักก็คือ มหาวิทยาลัยที่พวกเขาอยากเรียน มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอหรือไม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขานรับการขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมีโครงการพิเศษสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางร่างกาย การเห็น การได้ยิน บกพร่องทางการเรียนรู้ และ ออทิสติก กำหนดนโยบายส่งเสริมการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมด้วยหลักสูตรเรียนร่วม 14 คณะ เพื่อสามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้เท่าเทียมกับนักศึกษาทั่วไป สามารถบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้
นอกเหนือจากมุ่งเน้นทางด้านการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งงานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ กองพัฒนานักศึกษา หรือ DSS CMU (Disability Support Services of Chiang Mai University) เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาพิเศษตั้งแต่สอบเข้าและระหว่างเรียน ให้สามารถเรียนรู้และอยู่ร่วมในสังคมของมหาวิทยาลัยได้เหมือนนักศึกษาทั่วไป การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อนักศึกษา เช่น ให้บริการเอกสารอักษรเบรลล์ ให้บริการล่ามภาษามือ ให้บริการรถเข็น (Wheelchair) รถไฟฟ้า ทางลาด/ราวจับ ห้องน้ำ กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาพิเศษและนักศึกษาปกติ ไปจนถึงมีการประชาสัมพันธ์ทุนและช่วยหางานให้เมื่อเรียนจบ
นางสาวอริศรา อิ่นแก้ว (เมย์) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาปรัชญาและศาสนา
“เปรียบตัวเองเป็นแรงพยุง แรงผลักดัน ให้คนที่เขาขาด เติมเต็มในส่วนที่เขาไม่มี”
“จุดสำคัญแรกที่อยากเข้า มช. เพราะเป็นมหาวิทยาลัยในฝันและอยากร่วมกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย เพราะชอบบรรยากาศที่ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ รวมถึง มช. มีโครงการรับนักศึกษาพิเศษ จึงเป็นโอกาสที่ได้เข้ามาเรียนที่นี่ และได้รู้ว่า มช.เป็นมหาวิทยาลัยที่เอื้อต่อนักศึกษาที่มีความบกพร่อง มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งทางลาด รถไฟฟ้า หอพัก เราได้เลือกวิชาโทสตรีศึกษา ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องเพศ สิทธิคนพิการ ถ้าเรามีความรู้ด้านนี้ เราจะได้ช่วยเหลือคนอื่นได้ พอได้เห็นเพื่อนมีความบกพร่องมากกว่าเรา จึงเป็นแรงผลักดันให้เราอยู่ได้และต้องอยู่แบบมีประโยชน์เป็นจิตอาสา เป็นแขนขาให้เพื่อนได้ และจะนึกอยู่เสมอว่าถ้าเรียนจบแล้ว เราอยากไปประกอบอาชีพที่สร้างแรงบันดาลใจและเป็นกระบอกเสียงให้เพื่อนผู้มีความบกพร่องคนอื่นๆ”
นางสาวปฐมวดี อินต๊ะนน (มิว) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาศิลปไทย
“วิจิตรศิลป์สานฝันอยากเป็นครูศิลปะไทย กีฬาทำให้เพิ่มโอกาสสร้างคุณค่าให้ตัวเอง”
“รู้สึกดีใจที่ติด มช. ติดสถาบันที่เราตั้งใจไว้ และประทับใจที่ มช. เปิดโอกาสรับนักศึกษาพิเศษเข้ามาเรียน ที่สำคัญมีศูนย์บริการนักศึกษาพิเศษที่พร้อมดูแลเราได้ เราเลือกคณะวิจิตรศิลป์เพราะตั้งเป้าหมายในการต่อยอดอยากเป็นครูศิลปะ อีกทั้งได้รับโอกาสจาก มช. ให้เป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิส ซึ่งเราชอบอยู่แล้ว ได้ร่วมแข่งขันและเก็บตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติเทเบิลเทนนิส(รุ่นเยาวชน) ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง มีบางครั้งที่ท้อใจ เพราะด้วยสังคมที่กว้างขึ้นเราต้องดูแลตัวเองเป็นสองเท่า ต้องแข่งกับตัวเอง ต้องแข่งกับเพื่อนแต่มันกลับเป็นแรงผลักดันและสร้างประสบการณ์ความคุ้นเคยให้กับเราและได้เป็นส่วนหนึ่งในชมรมเพื่อนผู้พิการเป็นจิตอาสาได้ออกไปสอนน้องๆ ตามโรงเรียน ทำให้คนอื่นๆ ได้เห็นศักยภาพมากขึ้น”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบนภารกิจการพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนักถึงการศึกษาเพื่อทุกคนเป็นสำคัญ (Education for All) ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเสมอภาค เปิดโอกาสให้นักศึกษาพิเศษเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาปกติอย่างไม่มีข้อจำกัดและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในรั้วมหาวิทยาลัย ตลอดจนจบการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพพร้อมกัน