เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่รัฐสภา ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดยนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวกรณีเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพื่อไม่ให้มาตรานี้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการคุกคามประชาชนต่อไป นายวรภพ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล ขอยื่นเสนอแก้ไขประมวลอาญามาตรา 116 เพื่อไม่ให้มาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการคุกคามประชาชนอีกต่อไป โดยโทษอาญามาตรา 116 หรือที่เรียกเป็นชื่อเล่นง่ายๆ ว่าเป็นโทษของ“ การยุยงปลุกปั่น” ได้กลายเป็นกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐบาล คสช. จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่ตีความได้กว้างเพราะการใช้คำว่า “ เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง” และ “เพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมาย” ซึ่งรัฐบาลใช้มาตรา 116 ฟ้องประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือจัดกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลหลายสิบคดีอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลุ่มคนรณรงค์ประชามติสมัยรัฐบาลคสช. จนมาถึงกลุ่มผู้ชุมนุมนิสิตนักศึกษาและประชาชนปลดแอก “ถึงแม้ศาลจะยกฟ้องเกือบทุกคดีที่ฟ้องในสมัยรัฐบาล คสช. แต่รัฐบาลก็ยังใช้มาตรานี้อย่างต่อเนื่อง เหตุผลเพราะเป็นโทษอาญาหมวดความมั่นคงที่มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ทำให้ตำรวจสามารถขอศาลเพื่อออกหมายจับได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก่อน และทำให้ศาลต้องเรียกเงินประกันตัวที่สูงหลักแสนบาท กล่าวคือเป้าหมายของกระบวนการนี้คือการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการข่มขู่คุกคามต่อประชาชน ต่อแกนนำผู้จัดชุมนุม และผู้ที่แสดงความเห็นต่างต่อรัฐบาล เป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างตามระบอบประชาธิปไตย”นายวรภพ กล่าว นอกจากนี้ ข้อกฎหมายของมาตรา 116 ที่ตีความได้กว้างจนเกินเจตนารมย์ของโทษอาญาหมวดความมั่นคงของรัฐ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ควรจะต้องแก้ไขข้อกฎหมายในมาตรา 116 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของมาตรานี้ ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงขอยื่นแก้ไขประมวลอาญามาตรา 116 เพื่อให้ข้อกฎหมายมีความชัดเจนและยุติการใช้ มาตรา 116 ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีความต้องการเปลี่ยนข้อกฎหมายที่มีความคลุมเครือ ตีความอย่างกว้างได้จากการยุงยง “เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง” และ “เพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมาย” ตามอนุ (2) และ (3) เดิมให้กลายเป็นเฉพาะ “เพื่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่นหรือประชาชนหรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการหรือสาธารณะ” และลดโทษจำคุกจาก 7 ปีเหลือเพียง 3 ปีให้เหมาะสมกับโทษทางอาญาอื่นๆ และไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ตำรวจออกหมายจับได้โดยไม่ต้องใช้หมายเรียกได้อีกต่อไป นายวรภพ กล่าวว่า เมื่อฝ่ายบริหาร หรือตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายโดยมิชอบเพื่อปิดปากประชาชน ปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อไม่ให้ฝ่ายตุลาการตีความกฎหมายอย่างกว้าง จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะขอยื่นแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้ข้อกฎหมายมีความชัดเจนและยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง