ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สมาชิกแต่ละคนมีความเป็นอิสระ ดังนั้นสิ่งที่อภิปรายไม่ได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกคนอื่นผู้หนึ่งผู้ใด โดยยอมรับว่าเป็นผู้หนึ่งที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ และเมื่อ ส.ส. เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่า ส.ว.ไม่ควรเป็นอุปสรรคการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ และจะได้ไม่เป็นต้นเหตุให้รัฐธรรมนูญสิ้นอายุโดยไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้โดยไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะนำมาซึ่งความพอใจของประชาชนโดยรวมเช่นกัน พร้อมยกตัวอย่างต่างประเทศที่แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็น หากแก้ไขทั้งฉบับอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งโดยไม่สิ้นสุด นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิวุฒิสภา กล่าวว่า ยืนยันว่าส.ว.มีอิสระทางความคิด ไม่มีการหารือ หรือขอร้องให้ลงมติในทิศทางเดียวกัน แต่ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติไม่เหมาะกับสถานการของประเทศที่มีการระบาดโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เราก็ต้องมานั่งพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดตั้งส.ส.ร. ทั้งของพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล ครั้งหนึ่งเคยมีการตั้งส.ส.ร.มาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นมีการอภิปรายว่าเปรียบเหมือนลูกฆ่าแม่ และเป็นการตีเช็คเปล่า ต่อมาปี 55 มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องตามเจตนารมของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาจากการลงมติของประชาชน ก็ควรให้ประชาชนได้ประชามติเสียก่อนว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นที่มาที่เป็นของการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งกำหนดให้ต้องทำประชามติเมื่อแก้ไขในหมวด15 โดยต้องทำถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อตั้งส.ส.ร. และมีรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งหมดต้องใช้งบประมาณถึง 12,000-13,000 ล้านบาท “รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายสาเหตุที่ทำให้นักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่ไม่ดีไม่ชอบ เช่น มาตรา 9 ว่าด้วยเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ ซึ่งมีผลให้ส.ส. ส.ว. ไม่อาจดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ห้ามเข้ารับหรือก้าวก่ายสัมปทานของรัฐ ห้ามแปรงบประมาณ ผมไม่แน่ใจว่าประเด็นดีๆเหล่านี้จะคงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เป็นประเด็นที่ทำให้คิดหนัก และไม่ด้วยกับการตั้งส.ส.ร.” นพ.เจตน์ กล่าว