เรื่อง : ทีมข่าวการเมือง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติในวันที่ 24 ก.ย. 63 เวลา 11.00 น.นี้ หลังจากที่ศาลฯได้ดำเนินการพิจารณาไต่สวนพยานในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้คดีดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งคดีที่มีความสำคัญ ทั้งในแง่มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการแล้ว ยังพบว่า มีจำเลยซึ่งเป็นทั้ง “อดีตรัฐมนตรี” ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 รวมถึงบุคคลที่ตกเป็นจำเลยในความผิดคดีทุจริตโครงการรับจำนำจีทูจี สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมด้วย คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ นั้นมีอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยทั้งสิ้น 14 ราย ประกอบด้วย วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาล “ทักษิณ2” มานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549 ,พรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, อภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลย รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง , กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด,รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ,บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดย ปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ,บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ,บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด , บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย , บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และสุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91 อย่างไรก็ดี กว่าที่คดีการทุจริตในโครงการบ้านเอื้ออาทรฯ จะมาถึงศาลฎีกาฯ นั้นต้นทางที่มาคือการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดวัฒนา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.พัฒนาสังคมฯ เมื่อราวปี 2560 จากนั้นป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้ “อัยการสูงสุด” ดำเนินการฟ้องต่อศาลฯ อันเป็นผลจากการเข้าไปตรวจสอบโครงการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อภายหลังถูกยึดอำนาจเมื่อ 19 ก.ย. 2549 โดย “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” หรือคมช. มี “บิ๊กบัง”พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานคมช.สมัยนั้น ต่อมาคมช.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบโครงการต่างๆ ในชื่อ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และพบว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรฯ คือหนึ่งในโครงการที่มีปัญหา มีความไม่ชอบมาพากล ต่อมาคตส.ได้กล่าวหา วัฒนา ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเรียกรับสินบนจากบริษัท พาสทิญ่า จำกัด ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร ผ่านบริษัทและลูกจ้างบริษัท เพรซิเด้นท์เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 82.6 ล้านบาท ต่อมาคดีดังกล่าวมาถึงมือคณะกรรมการป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบ และชี้มูลความผิดวัฒนา กับพวกถูกกล่าวหาว่า เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร สืบเนื่องจากการที่บริษัทพาสทีญ่าได้โควตาเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ 7 โครงการ 7,500 ยูนิต มูลค่า 2,500 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสวนพลูพัฒนา โครงการผดุงพันธ์ โครงการนนทบุรี (วัดกู้ 1) โครงการนนทบุรี (วัดกู้ 3) โครงการสมุทรปราการ (วัดคู่สร้าง 1) โครงการปทุมธานี ลำลูกกา คลอง 2 และโครงการกระทุ่มแบน 3 ทั้งที่บริษัทดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการเข้าเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ แต่ได้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้สามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้วัฒนา เองได้เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อปี 2559 พร้อมทั้งระบุว่า ในช่วงที่มีการไต่สวนคดีเกี่ยวกับกรณีบ้านเอื้ออาทรนานกว่า 10 ปี คดีไม่มีความคืบหน้า และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เคยขอข้อมูลหลักฐาน หรือเชิญตนเองมาให้ข้อมูลแม้แต่ครั้งเดียว เชื่อได้ว่าสาเหตุที่คดีไม่มีความคืบหน้าเพราะเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่พิสดาร จึงไม่มีหลักฐานเชื่อมโยง อีกทั้งยังแยกสำนวนเป็น 2 สำนวน สำนวนแรกส่งให้อัยการแล้ว แต่ทางอัยการเห็นควรให้รอสำนวนคดีของตนก่อน จึงจะนำส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ทั้งที่คดีนี้ไม่มีความคืบหน้ามาเป็นเวลานาน กลับเป็นเรื่องแปลกที่เกิดความคืบหน้าในยุครัฐบาลทหาร “ ในช่วงที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาขู่เกี่ยวกับคดีที่อยู่ในชั้น ป.ป.ช. หลายครั้ง ดังนั้นจึงอยากขอข้อมูลจาก ป.ป.ช. ในการไต่สวนคดี เพราะอยากให้การพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่อยากถูกแทรกแซงทางการเมือง” (20ก.ย.2559- สำนักข่าวอิศรา) ทั้งนี้ในการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะความชัดเจนว่า คดีสุดท้ายที่เกี่ยวพันกับวัฒนา คือคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรนั้น ผลจะออกมาอย่างไร หลังจากที่กระบวนการพิจารณาคดีนี้ใช้ระยะเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษ !