ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา จากนั้นได้เข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาเรื่องด่วน 6 ญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมาเวลา 10.29 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้เสนอญัตติชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมีมติจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และมีเสียงจากพรรคการเมืองที่ไม่มีประธานหรือรองประธานสภาฯ หรือไม่มีคณะรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพรรคการเมืองดังกล่าว และยังต้องทำประชามติ จึงเห็นควรให้กลับไปชี้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา รวมถึงเสียงเรียกร้องประชาชนที่ชี้ว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จึงควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมพงษ์ กล่าวว่า ส่วนหลักการร่างแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 ถึง 272 เป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่สอดคล้องกับหลักการและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่ควรให้ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป จึงเห็นควรยกเลิกมาตรา 272 และแก้ไขมาตรา 159 ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.ส่วนยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช.และหัวหน้า คสช. ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ คสช. สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังคงบทบัญญัติไว้ ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิก นายสมพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง การคิดคำนวณไม่แน่นอนชัดเจน สมควรนำวิธีการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กลับมาใช้ ซึ่งเคยใช้มาหลายครั้ง ประชาชนเข้าใจ ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ จากนั้นนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาลที่เสนอญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 กล่าวว่า เมื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญระยะหนึ่ง แต่มีปัญหาไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมประชาชน ปัญหาการกระจายอำนาจ ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ จึงควรมีการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสม เพื่อเป็นแม่แบบการดำเนินการด้านต่างๆ ให้ประเทศมีเสถียรภาพความมั่นคง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ด้วยบทบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยุ่งยาก จึงควรแก้ไขมาตรา 156 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมาะสม ไม่ยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน และควรมีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทำรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม สอดคล้องเจตนารมณ์ประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการรับฟังความเห็นและออกเสียงประชามติ นายวิรัช กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็ยังมีข้อบกพร่อง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 หลายพรรคการเมืองชูประเด็นตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายแก้ไขเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็ปรากฎเป็นนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ก็มีกลุ่มภาคประชาชนทั้งคณะประชาชนปลดแอก หรือกลุ่มไทยภักดีกำลังเคลื่อนไหว ดังนั้นไม่ว่าจะแก้ไขมากหรือน้อยก็ต้องเกิดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งตนเองอยากเห็นบ้านเมืองสงบไม่แบ่งแยก ซึ่งในญัตติพรรคร่วมรัฐบาลมีเจตนารมณ์แก้ในมาตราที่เป็นปัญหา แต่ยืนยันไม่แก้หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกคนมีความเห็นตรงกัน รวมถึงญัตติของผู้นำฝ่ายค้าน และเห็นร่วมกันว่าควรแก้ไขมาตรา 256 แต่ถ้าจะแก้ไขได้ จะต้องอาศัยเสียงวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย และขอให้สมาชิกโหวตลงมติรับหลักการญัตติพรรคร่วมรัฐบาล และขอให้ร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ขอขอบคุณสมาชิกที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติ และหวังว่าจะได้มติจากวุฒิสภา