ได้ฤกษ์ เบิกม่าน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ “การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นจีเอ” (UNGA : United Nations General Assembly) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน ก.ย. ของทุกปี ณ ที่ตั้งของอาคารสำนักงานใหญ่ของยูเอ็น ในมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในแต่ละปี ก็จะมีผู้นำ หรือตัวแทน ของชาติสมาชิกถึง 193 ประเทศ ตบเท้าเข้าร่วมประชุม ซึ่งในปีนี้ ก็เป็นการประชุมสมัชชาใหญ่ของยูเอ็นครั้งที่ 75 แล้ว นับตั้งแต่มีการประชุมใหญ่ที่ได้หารือกันมา อย่างไรก็ดี เมื่อว่ากันถึงพิธีเปิดการประชุมนั้นได้เริ่มเปิดฉากกันไป เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว แต่การอภิปรายในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจริงๆ (High-Level General Debate) ก็เพิ่งประเดิมเป็นหะแรกเริ่มในวันอังคารที่ 22 ก.ย.ที่เพิ่งผ่านพ้นไป อย่างเป็นทางการ และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. หรือสิ้นเดือนนี้ นั่นเอง สำหรับ การประชุมอของเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงดังกล่าว และในปีนี้ แรกเริ่มเดิมที หลายฝ่ายของยูเอ็น ก็กะเกณฑ์กันก่อนหน้านี้ว่า จะเป็นปีพิเศษ เนื่องจากครบรอบ 75 ปี ที่องค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ได้รับสถาปนาขึ้นมา คือ ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้ง ที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ทว่า กลับกลายเป็นว่า ความ “พิเศษ” ที่ว่า ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปแบบการประชุมไปเสียนี! จากเดิมที่ประชุมอปิราย หรือกล่าวสุนทรพจน์ กันแบบเห็นหน้าค่าตา ก็กลายเป็นการประชุมกันแบบ “ออนไลน์ (Online) หรือแบบ “เสมือนจริง (Virtual)” ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หรือการประชุมทางไกล ที่จะกล่าวสุนทรพจน์ หรืออภิปราย หารือกันได้ แม้อยู่ห่างไกลกันระดับข้ามทวีป เรียกว่า เป็นการประชุมแบบ “นิวนอร์มอล (New Normal)” หรือที่หลายคนเรียกว่า “วิถีใหม่” กัน ซึ่งผู้นำที่จะกล่าวสุนทรพจน์แต่ละท่าน ก็จะบันทึกเป็นวิดีทัศน์ไว้ล่วงหน้า สำหรับการกล่าวเป็นระยะเวลา 15 นาที โดยถือเป็นครั้งแรกของการประชุมสมัชชาใหญ่ของยูเอ็น ที่ใช้รูปแบบ “ออนไลน์” เช่นนี้ นับตั้งแต่สถาปนาขึ้นเป็นองค์กรมา ส่วนผู้ที่เข้าห้องประชุมของยูเอ็น ก็ต้องผ่านมาตการต่างๆ เช่น การตรวจวัดไข้ หรืออุณหภูมิร่างกาย และต้องทำตามระเบียบตามที่ทางยูเอ็นกำหนด ได้แก่ การสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย และการที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม หรือโซเชียลดิสแทนซิง ท่ามกลางบรรยากาศทั้งในอาคารส่วนต่างๆ และรอบอาคารสำนักงานใหญ่ของยูเอ็น ตลอดจนถนนหนทางปริมณฑล ก็มีรายงานว่า เต็มไปด้วยความเงียบเหงา แทบจะไร้ผู้คนกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ เหตุปัจจัยที่ทำให้ยูเอ็น ต้องเปลี่ยนรูปแบบการประชุม และต้องจัดระเบียบ ตลอดจนมีมาตรการข้างต้น ก็เป็นผลมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังอาละวาดอย่างหนักแทบจะทุกมุมโลก ณ เวลานี้ นั่นเอง ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวนั้น ทาง “ยูเอ็นจีเอ” ก็ได้หยิบยกเรื่องวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าเป็นหนึ่งในวาระการอภิปรายหารือกันด้วย แบบเป็นวาระประเด็นหลัก แซงหน้าประเด็นอื่นๆ อย่างชนิดแทบจะมลายกลบหายกันไปเลย โดยมีรายงานจากอาคารสำนักใหญ่ของยูเอ็น ในมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกมาด้วยว่า ในประเด็นเรื่องวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ก็แตกแยกย่อยออกเป็นหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 80 หัวข้อเลยทีเดียว ที่ถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีเอ ประจำปีนี้ ก็สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะที่กำลังเขย่าโลกในเวลานี้ มีพิษสงร้ายกาจเพียงใด เอาเฉพาะในทางตัวเลขของเหยื่อตาย-ป่วย ของไวรัสร้าย ทั่วโลกก็มีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 31 ล้านราย ล้มตายไปด้วยไวรัสมรณะชนิดนี้ ก็มีจำนวนเกือบๆ 9.7 แสนราย ไม่นับความเดือดร้อนด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ที่ได้รับจากผลกระทบของวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดฯ เบื้องต้นที่เปิดอภิปรายกัน ทาง “นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ ในฐานะประธานที่ประชุม ร่วมกับองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเผชิญหน้ากับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคร้ายครั้งนี้ โดยนายกูเตอร์เรส ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ยังส่งผลตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันในทุกสังคมของประชาชาวโลก ใช่แต่เท่านั้น ไวรัสโควิดฯ ยังเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศต่างๆ ของโลกเรา ที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ต้องประสบกับภาวะหยุดชะงักลง เลขาธิการสหประชาชาติ ยังได้กล่าวให้ประชาคมโลก ต้องเผื่อใจที่ให้ไว้กับ “วัคซีน” ด้วยว่า วัคซีนอาจมิใช่ทางออกสำหรับการแก้ไขวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังอาละวาดในเวลานี้ก็เป็นได้ โดยอาจต้องมีมาตรการอื่นๆ ร่วมระดมกันออกมา