ระบุปัญหาไม่ใช่อยู่ที่การปั้น แต่อาจสะท้อนได้ถึงปัญหาอื่นและอาจเป็นการส่งสัญญาณ ชี้ทุกอย่างคือการเรียนรู้ อย่าห้ามในสิ่งที่ลูกสนใจและลงแรง แค่อย่าให้มากเกินไปจนกระทบพัฒนาการเด็ก พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" โพสต์ให้ความเห็นถึงกรณีลูกปั้นเปรตว่า คุณแม่มีคำถาม... สังคมก็เลยตั้งคำถาม “เด็กชายวัย 4 ขวบ ปั้นแต่เปรตทั้งวัน ไม่ทำอะไรอย่างอื่น ไม่เล่นกับเพื่อน ชวนไปทำกิจกรรมอะไรก็ไม่ทำ มันปกติมั้ย?” พอดีไม่มีรายละเอียด เอาจากที่แม่ตั้งคำถาม หมอมีคำแนะนำที่อยากแลกเปลี่ยนดังนี้นะคะ 1. “เปรต” อาจเป็นคำที่เราตีความไปเอง จึงนำมาสู่ความรู้สึกว่ามันช่างน่ากังวล เปรตในความหมายแม่ อาจจะคนละเปรตกับความหมายลูก 2. จากการลองหาข้อมูลเพิ่ม ที่เด็กปั้นอาจเรียกว่า “siren head” บางคนเรียก “ผีหัวลำโพง” บางคนเรียก “ปีศาจสถานีรถไฟ” ไปจนถึง “เปรตหัวลำโพง” ซึ่งเป็นเกมและมีคลิปมากมายใน YouTube 3. การที่ลูก “ลงมือ” ปั้นสิ่งที่สนใจ ไม่ว่าเป็นอะไร ก็น่าสนใจทั้งนั้น มองดีๆ นี่อาจเป็นพรสวรรค์ของตัวลูก 4. เด็ก 4 ขวบปั้นได้ขนาดนี้ ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ตั้งใจไม่ละความพยายาม และหมายถึงทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก (กล้ามเนื้อมือ) ที่ใช้ได้ดีมาก 5. ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การปั้น แต่อยู่ที่ “การไม่ยอมทำอย่างอื่น” 6. การไม่ยอมทำอย่างอื่นเลย อาจสะท้อนถึงปัญหาอื่น เช่น การจัดตารางชีวิตในแต่ละวัน วินัยในบ้าน การขาดทักษะทางสังคม การหมกหมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มากไป (จนอาจเป็นสัญญาณของปัญหาของเด็กบางอย่าง) ฯลฯ 7. ระวังการเสพสื่อที่มากเกินไป จนทำให้เกิดการหมกมุ่นในเรื่องเดียวซ้ำๆ 8. การจัดตารางเวลาในแต่ละวัน ให้ลูกปั้นได้ แต่ต้องทำอย่างอื่นที่สำคัญด้วย เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องลงมาช่วย 9. ที่สำคัญ** ควรประเมินลูก ถ้าลูกมีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น พัฒนาการทางภาษาช้า ทักษะทางสังคมไม่ดี ไม่ค่อยมองหน้าสบตา ชอบทำอะไรซ้ำๆ ให้ระวังภาวะการบกพร่องทางภาษาและสังคม หรือที่เราเรียกว่า ออทิสติก 10. เด็กที่เป็นออทิสติก หลายครั้งจะทำอะไรซ้ำๆ ย้ำๆ อยู่แต่กับเรื่องที่ตัวเองสนใจ มีโลกส่วนตัวสูง ไม่สนใจมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากนัก (ออทิสติกมีหลายระดับ ขึ้นกับความรุนแรง) ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจ ควรพาปรึกษาหมอพัฒนาการ 11. อย่ารีบห้ามสิ่งที่ลูกกำลังสนใจและลงแรง ทุกอย่างคือการเรียนรู้ของลูก พ่อแม่แค่ช่วยทำให้แน่ใจ ว่ามันไม่ได้มากเกินไป จนรบกวนการพัฒนาด้านอื่นๆ ของเด็กๆ (หลักการนี้ใช้ได้กับการที่ลูกหมกมุ่นในทุกเรื่อง) น่าจะประมาณนี้ ที่เราควรเรียนรู้จากข่าวนี้นะคะ ป.ล. หมอไม่ได้บอกว่าเด็กมีปัญหาอะไรเลยนะคะ เพราะไม่สามารถบอกได้ กรุณาอย่าเอาไปพาดหัวขายข่าว (พอดีโดนบ่อยต้องดักไว้ก่อน) แค่เขียนให้ครอบคลุมกับสิ่งที่พ่อแม่ต้องมองรอบด้านเนื่องจากข้อมูลที่มีมันแทบบอกอะไรไม่ได้ #หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ผู้เชื่อว่าการอยู่กับสิ่งที่ลูกสนใจเป็นเรื่องน่าสนใจ”