นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่กรมศิลปากรเข้าแจ้งความกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมดังกล่าว ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบในฐานะผู้ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ ตามประกาศ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากมีกลุ่มผู้เข้าไปขุดเจาะลานคอนกรีตในพื้นที่สนามหลวงพร้อมนำหมุดคณะราษฎร 2563 ไปฝังไว้โดยไม่รับอนุญาต เป็นกฎหมายอาญา ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 10 คือห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคาร ภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามมาตรา 35 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายประทีป กล่าวว่า ส่วนประเด็นการบุกรุกพื้นที่สนามหลวงนั้น น่าจะเป็นประเด็นที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ระเบียบการใช้พื้นที่สนามหลวงที่ระบุไว้ชัดเจนว่าสามารถใช้พื้นที่เพื่อการใดบ้าง ซึ่งที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีกรณีบุคคลใดเข้าไปทำการในลักษณะดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่สนามหลวงมาก่อน และส่วนใหญ่หากจะมีการทำกิจกรรม หรือจัดงานใดๆ จะต้องมีการขออนุญาตใช้สถานที่เข้ามาก่อน และการเข้ามาของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีการขออนุญาต เป็นเพียงทราบข่าวจากการประกาศผ่านสื่อต่างๆ ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้ามายังในพื้นที่สนามหลวง จึงถือเป็นการรับทราบแบบอย่างไม่เป็นทางการ โดยหลังจากนี้จะถือเป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องมีการสืบสวนคดีต่อไป ในส่วนของกรมศิลปากรได้แจ้งความในกรณีการกระทำใดๆ ในพื้นที่สนามหลวงเท่านั้นยกเว้นกรณีที่เมื่อทางตำรวจขอความเห็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับกรมศิลปากร แต่ก็จะทำงานร่วมกันกับกทม.และตำรวจ “กรมศิลป์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ เพราะพ.ร.บ.โบราณสถานเป็นกฎหมายอาญา แม้แต่ผู้ที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องดูการดำเนินงานอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะมีการกระทำหลายกรณีที่ครอบคลุมอยู่ภายในพ.ร.บ. เบื้องต้นที่เห็นชัดความผิดชัดคือการเข้าไปขุดโดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ดี ในภาพรวมเรายังไม่ได้ชี้ว่าใครเข้าไปทำอะไรอย่างไรได้ชัดเจน จึงขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าไปดูว่าผู้ที่กระทำการละเมิดที่ว่านั้นมีใครบ้าง ให้เป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว