นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ตามนโยบายที่ต้องการเป็นธนาคารเพื่อสังคมของออมสิน ธนาคารได้เตรียมแผนออกพันธบัตรเพื่อสังคมในปี 2564 เพื่อสร้างตลาดตราสารหนี้ให้ได้รับความนิยมในวงกว้าง และให้นักลงทุนสถาบันรายเล็กสามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น โดยปีแรกคาดว่าจะออกพันธบัตรเพื่อสังคมวงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2563 ธนาคารออมสินจะเป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ของการเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 6.8 พันล้านบาท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจไทยที่มีการออกพันธบัตรประเภทนี้ ทั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้คัดเลือกธนาคารออมสินให้เป็นผู้จัดการจัดจำหน่าย สำหรับพันธบัตรดังกล่าว มีจำนวน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น 5 ปี วงเงิน 1 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.02% ต่อปี รุ่น 10 ปี วงเงิน 2.8 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.64% ต่อปี และรุ่น 15 ปี วงเงิน 3 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.90% ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้น และดอกเบี้ย โดยพันธบัตรดังกล่าวได้เปิดให้นักลงทุนแสดงความจำนง เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนยื่นความประสงค์ครบตามจำนวน ซึ่งธนาคารออมสินจะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 22 ก.ย.2563 โดยจะเรียกนักลงทุนที่ยื่นความประสงค์มาจองซื้อในวันดังกล่าว นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การออกพันธบัตรเพื่อสังคมของการเคหะแห่งชาติครั้งนี้ เป็นการออกพันธบัตรเพื่อรีไฟแนนซ์(Refinance) การลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยทั้งประเภท เช่า เช่าซื้อ และซื้อ ที่มีระดับราคาที่รับภาระได้ "เป็นการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 11 การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์มีความยั่งยืนและประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ ซึ่งจะมีประชาชนประมาณ 13,569 ครัวเรือน หรือประมาณ 54,000 คน ได้รับประโยชน์จากการออกพันธบัตรในครั้งนี้ ซึ่งการออกพันธบัตรเพื่อสังคมในครั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการแบบให้เปล่าจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ทำให้การออกพันธบัตรเป็นไปตามมาตรฐานสากลของInternational Capital Markets Association (ICMA) และ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF)