ลงนามบันทึกข้อตกลงเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ แก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับเคลื่อนการจัดการศึกษา พัฒนางานวิจัย นวัตกรรม ควบคู่ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า มรภ.สงขลา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ Memorandum of Agreement (MOA) of Academic Cooperation Networking for Problem Solving and Development in Southern Border Provincesร่วมกับอีก 14 องค์กร โดยมี พลเอก ปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานในพิธี การลงนามบันทึกข้อตกลงที่จัดทำขึ้นในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง มรภ.สงขลา กับองค์กรต่างๆ ได้แก่ 1.ม.สงขลานครินทร์ 2.ม.ทักษิณ 3.ม.นราธิวาสราชนครินทร์ 4.มรภ.ยะลา 5.ม.การกีฬาแห่งชาติ ประจำวิทยาเขตยะลา 6.ม.หาดใหญ่ 7.ม.ฟาฏอนี 8.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 10.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 11.โรงเรียนเสนาธิการทหารบก 12.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 13.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า 14.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและแนวทางการดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) และแผนรองรับในระดับต่างๆ รวมทั้งนโยบายรัฐบาล เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานวิชาการ การจัดการศึกษา การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม งานบริการวิชาการ ตลอดจนการส่งเสริม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับกรอบหลักการในส่วนประเด็นสำคัญ เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างและใช้องค์ความรู้จากงานศึกษาและวิจัยในรูปแบบที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งสนับสนุนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข และเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างหลักประกันในความเท่าเทียมและความเสมอภาค 2.การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การสร้างความเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี ซึ่งเป็นพื้นฐานแก้ปัญหาวิกฤตความรุนแรงในพื้นที่ 4.การสร้างความรู้ความเข้าใจและเคารพยอมรับในวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ 5.การสร้างความรู้และการยอมรับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตาม หลักวิชาการ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ 6.การสร้างและใช้องค์ความรู้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนร่วมในการบริหารและการพัฒนา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืน สำหรับกรอบหลักการของเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ในการศึกษาและวิจัยที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีความร่วมมือในรูปแบบที่สำคัญ ดังนี้ 1. ร่วมพัฒนาและปรับปรุงกลไกความร่วมมือของเครือข่ายตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับยุทธศาสตร์เพื่อสานพลังวิชาการทั้งในและต่างประเทศ 2.ร่วมสร้างชุดความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญสู่การขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม 3.ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4.ร่วมพัฒนาศักยภาพคนของกลุ่มเครือข่ายเพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนงานทางวิชาการ 5.ร่วมสร้างตัวแบบการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ เช่น พื้นที่พหุวัฒนธรรมที่เป็นพื้นที่สันติสุขภาวะ 6.ร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อสร้างพลังร่วมของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนงานไปสู่การปฏิบัติ