ใกล้เข้ามาทุกขณะ จนเหลือระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น สำหรับ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2020 ซึ่งจะมีขึ้นในต้นเดือน พ.ย.ที่จะถึง การชิงชัย ก็จะเป็นการสัประยุทธ์ระหว่างสองผู้สมัครรับเลือกตั้งคนสำคัญ ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าของตำแหน่งแห่งพรรครีพับลิกัน กับนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหัรฐฯ สมัยบารัก โอบามา อันเปรียบได้ในฐานะผู้ท้าชิง ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต หากเอ่ยถึงคะแนนนิยมที่ผ่านมา ซึ่งสำนักโพลล์ต่างๆ สำรวจคะแนนนิยมของสองผู้สมัครกันหลายครั้ง เป็นระยะๆ ก็ปรากฏว่า อดีตรองประธานาธิบดีไบเดน มีคะแนนนิยมนำหน้าประธานาธิบดีทรัมป์มโดยตลอด แถมมิหนำซ้ำ บางช่วง บางตอน คะแนนนิยมของนายไบเดน ก็เหนือกว่านายทรัมป์หลายจุด โดยบางครั้งห่างกันถึง 9 – 10 จุด ก็ยังเคยมี ล่าสุด ในการประเมินของ “เรียลเคลียร์โพลิทิกส์” ซึ่งนำผลการสำรวจคะแนนนิยมของสำนักโพลล์ต่างๆ เช่น ยูก็อฟ ราสมุสเซน เป็นต้น มาประมวลหาค่าเฉลี่ยในอัตราร้อยละ ก็ได้ความว่า นายไบเดน ยังคงมีคะแนนนิยมนำหน้านายทรัมป์ อยู่ถึง 5.9 จุด สำหรับ การสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวอเมริกันผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่เพิ่งผ่านพ้นมา โดยนายไบเดน มีคะแนนนิยที่ร้อยละ 49.0 ส่วนคะแนนิยมของนายทรัมป์ อยู่ที่ร้อยละ 43.1 ตัวเลขที่ออกมา ก็ต้องถือว่า นายทรัมป์ เริ่มมีคะแนนนิยมตีตื้นขึ้น หลังจากที่เคยตามหลัง 9 – 10 จุด เมื่อช่วงก่อนหน้า ส่วนทางด้านปัจจัยการตัดสินใจของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ว่าความสามารถด้านใด ที่จะทำให้พวกเขากาบัตรลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดนั้น ในการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันครั้งล่าสุด ก็ปรากฏว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 27 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถในการรับมือกับแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังอาละวาดอย่างหนักในสหรัฐฯ ณ เวลานี้ รองลงมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในเรื่องภาวะผู้นำ มีจำนวนร้อยละ 25 และแปลกแต่จริง ที่เรื่องการสร้างงาน เรื่องเศรษฐกิจ อันเกี่ยวข้องกับปากท้อง และเงินในกระเป๋า ของประชาชนโดยตรง กลับอยู่ในความสนใจรั้งท้าย คือ เพียงร้อยละ 19 เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผลโพลล์ข้างต้น ก็เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันชน ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็คือกลุ่มตัวอย่างที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนน “ป็อปปูลาโหวต” หรือคะแนนเสียงจากประชาชนที่มากาบัตรเลือกตั้ง แต่สิ่งที่จะมาตัดสินชี้ชะตาว่า ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ตามระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็คือผลการลงคะแนนของกลุ่มคนที่เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้ง” หรือ “อิเล็กโทรัล คอลเลจ (Electoral College)” ผู้จะมาลงคะแนนที่เรียกว่า “อิเล็กโทรัลโหวต (Electoral Vote)” ซึ่งในแต่ละรัฐ ก็มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งแตกต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐนั้นๆ อาทิ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมากที่สุดรัฐหนึ่ง ก็มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากถึง 55 เสียง จนถือเป็นรัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุด ส่วนที่รัฐมอนแทนา มีคณะผู้เลือกตั้งเพียง 3 เสียง เท่านั้น เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงต่างพยายามหาเสียงกันอย่างเข้มข้นในรัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐที่เรียกกันติดปากว่า “รัฐสวิงสเตท” หรือ “รัฐสมรภูมิ (Battleground State)” ที่คะแนนเสียงยังไม่ไปเอนเอียงฝักใฝ่เทใจให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งกันโดยเฉพาะ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงพลิกผันได้ทุกเมื่อนั้น การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ตามกติกาของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คณะผู้เลือกตั้ง จำนวน 270 เสียงก่อน ก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เพราะถือว่า ได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า “กึ่งหนึ่ง” หรือ “ครึ่งหนึ่ง” ของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งสิ้น 538 เสียง โดยในการสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ เกี่ยวกับคะแนนนิยมของผู้สมัครฯ ในคณะผู้เลือกตั้ง ที่ไม่ค่อยได้เห็นการทำโพลล์กันบ่อยนัก ก็ปรากฏว่า สร้างความยินดีปรีดาให้แก่ทางพลพรรคเดโมแครตหาน้อยไม่ เพราะทางเรียลเคลียรโพลิทิกส์ ระบุว่า นายไบเดน มีแนวโน้มว่าจะได้คณะผู้เลือกตั้ง ไว้ในความครอบครองมากถึง 280 เสียง ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เพียง 131 เสียง ส่วนคณะผู้เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเทคะแนนให้ผู้สมัครฯ คนใดมีจนวน 127 เสียง ก็ถือเป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ของทีมงานพลพรรครีพับลิกัน สำหรับ การตีตื้นคะแนนเสียงอิเล็กโทรัลโหวตให้เปลี่ยนแปลงมาเทใจให้แก่นายทรัมป์ กับเวลาที่เหลือเพียง 6 สัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น ก็จะถึงวันหย่อนบัตร คือ วันอังคารที่ 3 พ.ย.นี้