พลเอกประยุทธ์ (กลาง) ที่ชุมชนบึงบางซื่อ เขตจตุจักร เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ‘บึงบางซื่อ’ ซ่อนตัวอยู่ระหว่างคลองประปาและคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร เดิมเป็นพื้นที่ที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยขุดดินดำขึ้นมาใช้เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ตั้งแต่ปี 2470 มีเนื้อที่ทั้งหมด 61 ไร่ พื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกบ้านพักให้พนักงานอยู่อาศัย นานวันเข้าพื้นที่ที่ขุดดินไปใช้กลายเป็นบึงขนาดใหญ่ ในปี 2511 เมื่อบริษัทย้ายการผลิตไปที่ จ.สระบุรี จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินแปลงนี้ ขณะที่บ้านพักพนักงานเริ่มทรุดโทรม มีประชาชนจากภายนอกเข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนเพิ่มเติมจนกลายเป็นชุมชนแออัด ประมาณ 250 ครอบครัว ผู้อยู่ศัยกว่า 1,000 คน ไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้า ต้องต่อพ่วงจากข้างนอกเข้ามาใช้ ส่วนใหญ่ไม่มีทะเบียนบ้าน เพราะปลูกสร้างบ้านเรือนโดยไม่ได้รับอนุญาต บางส่วนปลูกสร้างบ้านในบึง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องขยะ น้ำท่วมขังทางเดิน น้ำเน่าเสีย เด็กๆ ไม่มีที่วิ่งเล่นออกกำลังกาย เพราะพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นบึง  สภาพชุมชนเดิม สร้างบ้านมั่นคง 45 หลังแรก ปราณี สินปรุ หรือ ‘ป้าเล็ก’ อายุ 65 ปี แกนนำพัฒนาในชุมชน เล่าว่า ตนเองเป็นคนฉะเชิงเทรา เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2517 โดยทำงานในโรงงานทอผ้าย่านบางซ่อน มาเช่าบ้านอยู่ในชุมชนบ้านยาวริมบึงบางซื่อ เพราะอยู่ไม่ไกลจากโรงงานมากนัก อยู่อาศัยกับครอบครัวเรื่อยมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน มีรายได้ไม่พอที่จะไปซื้อบ้านอยู่ ในปี 2551 มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เข้ามาแนะนำเรื่องโครงการบ้านมั่นคง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และไม่เชื่อว่าจะมีหน่วยงานไหนจะมาช่วยเหลือชาวบ้าน อีกทั้งที่ดินก็เป็นของโรงงานปูนซิเมนต์ กลัวว่าเจ้าของที่ดินจะมาไล่ที่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ พอช.พาไปดูตัวอย่างโครงการบ้านมั่นคงหลายแห่ง ชาวบ้านจึงเริ่มเชื่อถือ และรวมตัวกันเพื่อจะทำโครงการบ้านมั่นคง โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือ ‘SCG’ อนุญาตให้ทำโครงการ “ตอนนั้นมีคนเข้าร่วมแค่ 45 ครอบครัว เริ่มจากชุมชนบ้านยาวที่ป้าอยู่ เพราะชุมชนอื่นๆ ยังไม่พร้อม เราก็เริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา ร่วมกันออมเงินเพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน ครอบครัวนึงไม่ต่ำกว่าเดือนละ 300 บาท ก็ออมเงินกันเรื่อยมา หลังจากนั้นก็มีการประชุมกันตลอด เพื่อร่วมกันออกแบบผังชุมชน ออกแบบบ้าน เป็นบ้านแบบทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น มาเริ่มสร้างบ้านเมื่อปี 2555 และสร้างเสร็จทั้งหมดในปี 2559” ป้าเล็กเล่ากระบวนการบ้านมั่นคงบึงบางซื่อแบบย่อๆ ส่วนราคาค่าก่อสร้างบ้านประมาณหลังละ 200,000 บาท ชุมชนใช้เงินออมสมทบจำนวน 858,237 บาท ส่วนที่เหลือใช้สินเชื่อและงบอุดหนุนสาธารณูปโภคจาก พอช. และผ่อนชำระประมาณเดือนละ 1,600-1,700 บาทเศษ ระยะเวลา 15 ปี ไม่เพียงแต่จะได้บ้านใหม่ที่มั่นคงเท่านั้น แต่หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานเขต บริษัท SCG ฯลฯ เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การเก็บขยะในชุมชนมาคัดแยก และขายเป็นรายได้ของกลุ่มเยาวชน กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เด็ก ออมกันทุกวันๆ ละไม่ต่ำกว่า 5 บาท มีสมาชิกเด็ก 26 คน เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษา นอกจากนี้เด็กๆ ยังช่วยกันเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าปลูกผักเอาไว้กิน  บ้านมั่นคง 45   หลังแรก สานพลังประชารัฐพัฒนาที่อยู่อาศัยบึงบางซื่ออีก 197 ครอบครัว ในปี 2560 บริษัท SCG มีนโยบายพัฒนาบึงบางซื่อตามโครงการ ‘สานพลังประชารัฐ’ โดยมีแนวคิดว่า “SCG ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินบึงบางซื่อมามากพอแล้ว ควรมอบที่ดินคืนเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมต่อไป” โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 2 ส่วน คือ 1.พื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัย เนื้อที่ 10 ไร่ 2.พื้นที่บึงสาธารณะ เนื้อที่ 51 ไร่ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกายของประชาชน นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชน เช่น การเลี้ยงปลา รวมทั้งส่งเสริมอาชีพต่างๆ เพื่อให้ชาวชุมชนมีรายได้ ที่ผ่านมา SCG ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เช่น มีการประชุมชี้แจงโครงการ มีการจัดตั้งคณะกรรมการในชุมชนต่างๆ เพื่อดำเนินงาน เช่น สำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อนำมาวางแผนการพัฒนา จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและอาชีพ ร่วมกันออกแบบที่อยู่อาศัยให้ตรงกับความต้องการ วิถีชีวิต และอาชีพของชาวชุมชน จากการสำรวจข้อมูลและยืนยันสิทธิ์ของชาวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ต้องเป็นผู้เดือดร้อนจริง อยู่อาศัยในพื้นที่ SCG ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์ฯ ต้องเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ จึงได้ผู้เดือดร้อนและมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 197 ครอบครัว (ไม่รวม 45 ครอบครัวที่ทำโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว)  บึงบางซื่อก่อนการพัฒนา แต่เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด จึงมีรูปแบบการก่อสร้างเป็น 1.บ้านแถวหรือทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น จำนวน 60 ห้อง ขนาดห้องละ 48 ตร.ม. 2.อาคารชุด 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ห้อง ขนาด 31.5-38 ตร.ม. และ 3.บ้านสำหรับผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้ จำนวน 4 ห้อง ขนาด 12-15 ตร.ม. รวมทั้งหมด 197 หลัง ในเดือนเมษายน 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เดินทางมาเป็นประธานเปิดโครงการ “สานพลังประชารัฐ การพัฒนาบึงบางซื่อ” โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสานพลังประชารัฐ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนสินเชื่อและเงินอุดหนุนสร้างบ้าน-สาธารณูปโภค 57 ล้านบาทเศษ บริษัท SCG มอบที่ดินให้สร้างบ้าน (ให้กรมธนารักษ์ดูแล) รวมเนื้อที่ 10 ไร่ 278 ตารางวา มูลค่าประมาณ 42 ล้านบาทเศษ การรถไฟแห่งประเทศไทยมอบสัญญาเช่าที่ดินให้ SCG เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกของชุมชน ชาวบ้านสมทบเงินออมสร้างบ้านจำนวน 5,902,600 บาท และผ่อนส่งค่าก่อสร้างบ้านประมาณเดือนละ 2,300 บาท ระยะเวลา 15 ปี นายกรัฐมนตรีมอบบ้าน-ทะเบียนบ้าน 60 หลังแรก ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานมอบบ้านและทะเบียนบ้านให้แก่ชาวชุมชนบึงบางซื่อที่สร้างบ้านเสร็จแล้วจำนวน 60 ครอบครัว เป็นทาวน์เฮ้าส์ขนาด 2 ชั้น พื้นที่ 48 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีก 133 ครอบครัว เป็นอาคารสูง 4 ชั้น 3 อาคาร ขนาด 31.5-38 ตร.ม. และบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้ จำนวน 4 ห้อง กำลังก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2564  บ้านใหม่ 60 ครอบครัว พลเอกประยุทธ์ กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกตื้นตันที่โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งต้องใช้เวลา 4 ปีในการดำเนินการสร้างความเข้าใจ ทำความตกลง ทำสัญญา จนถึงการก่อสร้าง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเท่าเทียม นอกจากนี้ยังทำเรื่องที่อยู่อาศัยและการพัฒนาในคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และแฟลตดินแดง และไม่ได้ทำแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่รวมถึงต่างจังหวัด เป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2580 “วันนี้เรามีบ้านใหม่ มีความปลอดภัย มีทะเบียนบ้าน มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ต่อไปต้องทำเรื่องอาชีพ มีการปลูกผัก เพื่อเอาไว้กิน เอาไว้แจกกัน ที่เหลือเอาไปขาย ใช้พื้นที่น้อย แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต่อไปอาจเลี้ยงปลาเป็นแหล่งโปรตีน เป็นอาหาร เอาไปขายเป็นอาชีพ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วม เช่น พอช. กรมธนารักษ์ SCG และเครือข่ายพันธมิตรทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันพัฒนาบึงบางซื่อจนสำเร็จ ถือเป็นต้นแบบการสานพลังประชารัฐ เป็นการสานพลังความรัก ความสามัคคี” พลเอกประยุทธ์กล่าว สมชาย ทิวทองธนา ประธานสหกรณ์เคหสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด (บึงบางซื่อ) กล่าวว่า “ดีใจที่พวกเรามีบ้านเป็นของตัวเอง ลูกหลานจะได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องเร่ร่อนไปไหน มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เด็กๆ จะได้มีที่วิ่งเล่น เพราะเมื่อก่อนสภาพเป็นชุมชนแออัด ปลูกสร้างบ้านอยู่ในบึง ทางเดินก็คับแคบ ต่อไปเราจะพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มปลูกผัก และเลี้ยงปลาในกระชังแล้ว คนที่ตกงานจะได้มีอาหารกิน เด็กๆ ก็มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลเอาไปขาย เอาเงินมาเป็นทุนการศึกษา” ประธานสหกรณ์ฯ กล่าว  เด็กๆ คัดแยกขยะรีไซเคิลเอาไปขาย พัฒนาบึง-สร้างปอดใหม่ให้กรุงเทพฯ พื้นที่ส่วนที่เหลือจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยประมาณ 50 ไร่เศษ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งใช้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย) เพื่อปรับปรุงพื้นที่รอบบึงให้เป็นสวนสาธารณะ สร้างทางเดินรอบบึงเพื่อศึกษาธรรมชาติ เช่น เส้นทางศึกษาพรรณไม้น้ำ มีกิจกรรมทางน้ำ มีลานพักผ่อน เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ออกกำลังกาย ฯลฯ เป็นแหล่งพักผ่อน ท่องเที่ยวชุมชนเมือง และเป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำในบึง ป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียในอนาคต โดยวางระบบบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน สร้างจิตสำนึกของชุมชนให้เกิดความร่วมมือในการคัดแยกขยะ ปลูกต้นไม้ที่มีรากช่วยกรองน้ำ เช่น แฝก เตย ฯลฯ ช่วยกันบำรุงรักษาบึงน้ำให้ใสสะอาด เกิดสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อน รวมทั้งเป็นแก้มลิงหรือแหล่งรองรับน้ำในบริเวณนี้ได้ด้วย สามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 360,000 ลูกบาศก์เมตร ทัศนียภาพภายหลังปรับปรุงบึงบางซื่อ นอกจากนี้บริษัท SCG จะจัดสรรพื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นศูนย์บริการจำหน่ายให้กับสินค้าชุมชน โดยขณะนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกผักอินทรีย์ เพาะเห็ด นำขยะเปียกมาทำปุ๋ย เลี้ยงปลา ฯลฯ ส่งเสริมสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน พัฒนาพื้นที่บางส่วนให้เช่าเป็นพื้นที่ค้าขาย เพื่อสร้างโอกาสการหารายได้ให้กับชุมชน และเป็นทุนในการพัฒนาชุมชนต่อไป ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตจุตจักร ต่างก็มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาชุมชน รวมทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ เป็นเส้นทางเข้า-ออกของชุมชน ถือเป็นโครงการต้นแบบการสานพลังประชารัฐ ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย ให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ชาวกรุงเทพฯ ก็จะมีสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย และเป็นปอดแห่งใหม่ของเมืองกรุง !!