วันที่ 18 ก.ย. 63 - รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2564 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2564 จำกัดการรับนักเรียนจำนวนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง โดยห้ามมีการขยายห้องเรียนอย่างเด็ดขาด ส่วนการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส นักเรียนที่เป็นบุตรราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน เป็นต้น ยังคงให้มีการรับแบบเงื่อนไขพิเศษตามเดิม ทั้งนี้ รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2565 จำกัดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 35 คนต่อห้องด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ประชุมเห็น ว่า ปัจจุบันนี้อัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลง และอนาคตหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเปลี่ยนเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนั้นการจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้องโดยห้ามขยายห้องเรียนเพิ่มเติมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และครูได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เด็กที่พลาดโอกาสจากโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงได้ไปอยู่โรงเรียนคู่ขนานที่มีศักยภาพเหมือนโรงเรียนดัง ส่วนการรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 นั้น ที่ประชุมมีมติห้ามใช้วิธีการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้นป.1 ในโรงเรียนสังกัดสพฐ.อย่างเด็ดขาด โดยจะให้ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองแทน รวมถึงการจับฉลากเข้าเรียนของเด็ก ป.1 ต่อจากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองมาจับฉลากเข้าเรียนแทนบุตรหลาน เนื่องจากแพทย์เด็กด้านจิตวิทยามองว่าจะทำให้เด็กเกิดความเครียดจากการแข่งขันส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจของเด็ก เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าการเข้าเรียน ป.1 ในโรงเรียนบางแห่งยังมีการสอบแข่งขันเกิดขึ้นในหลักสูตรห้องเรียน English Progarm (EP) และ Intensive English Program (IEP) จนทำให้ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานของตัวเองไปกวดวิชา อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะนำข้อสรุปที่เป็นมติที่ประชุม กพฐ.เสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณา ซึ่งหากนโยบายดังกล่าวไม่มีการปรับเปลี่ยนจาก รมว.ศธ.สพฐ.จะนำไปจัดทำเป็นปฏิทินและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนต่อไป