ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ จัดเสวนาเครือข่ายผู้เลี้ยงโค เพิ่มโอกาสทางการค้า และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจด้วยระบบการค้าที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตโคเนื้อ วันนี้(18 ก.ย. 63) ที่ห้องประชุมโกวิทเชื่อมกลาง อาคารนวัตปัญญามหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อจังหวัดบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) จัดเสวนาเครือข่ายผู้เลี้ยงโค เพิ่มโอกาสทางการค้า และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจด้วยระบบการค้าที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตโคเนื้อ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและเลี้ยงโค ผู้รับซื้อและแปรรูป ตลอดทั้งร้านอาหาร ได้พบปะพูดคุยถึงโอกาสทางการค้าด้วยระบบการค้าที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่นการตลาดในภาพรวม การขุนโคเนื้อแบบมืออาชีพ การพัฒนาสายพันธุ์ตามที่ตลาดต้องการ มีเกษตรกร และผู้ที่สนใจจากจังหวัดบุรีรัมย์ และใกล้เคียงเข้าร่วมกว่า 200 คน นายอภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ เผยว่า จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมมีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อกระจายอยู่ทุกอำเภอ 26 กลุ่มเฉลี่ยอำเภอละ 1 กลุ่ม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถขยายเครือข่ายเพิ่มเฉลี่ยอำเภอละ 4-5 กลุ่มใน 23 อำเภอ ประมาณ 250,000 ตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแม่พันธุ์ผลิตลูกประมาณ 35 - 40% สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตลูกโคขุน โดยการปรับปรุงพันธุ์ จับคู่ผสมพันธุ์ให้สอดคล้องกับที่ตลาดเนื้อคุณภาพที่ตลาดต้องการเช่น ตลาดกลางที่เน้น โคหนุ่มเนื้อนุ่มไขมันน้อย หรือว่าตลาดพรีเมี่ยม ที่ต้องการเนื้อไขมันแทรก ซึ่งความต้องการโคเนื้อคุณภาพทั้งประเทศประมาณ 5-6 แสนตัวต่อปี จึงมุ่งเน้นให้เกษตรกรผลิตลูกโค ส่งต่อให้เกษตรกรขุนให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบัน มีผู้รับซื้อโคขุนคุณภาพ 6-8 เดือน น้ำหนักตั้งแต่ 500 กิโลกรัมขึ้นไป เฉลี่ยอาทิตย์ละ 25-30 ตัว หรือประมาณเดือนละประมาณ 100-120 ตัว ซึ่งกลุ่มเกษตรกรของจังหวัดบุรีรัมย์เองผลิตไม่ทันตามที่ตลาดต้องการ ในส่วนของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ก็จะเดินหน้าไปเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มีประมาณ 40,000 ราย มีโคเนื้อ โคขุน และโคพื้นเมือง อยู่ประมาณ 400,000 ตัว ให้มีการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย ตลอดทั้งการปรับปรุงพันธุ์ โดยวิสาหกิจผู้เลี้ยงสัตว์ จากพันธุ์พื้นเมืองโดยการน้ำเชื้อคุณภาพ มีการประสานภาคเอกชนในการับซื้อในลักษณะ ตลาดนำการผลิต โดยมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ช่วยดูแล ให้คำแนะนำ ทั้งระบบ ด้านนายสิทธิฉันท์ วุฒิพรกุล เจ้าของกิจการร้านอาหาร รส ดี เด็ด อยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนำเนื้อโคขุนไปประกอบอาหาร บอกว่า การเลี้ยงโคของเกษตรกร มีหลากหลายวิธี แต่ถ้ามีความสม่ำเสมอ มีความแน่นอนกับวัตถุดิบในการเลี้ยง ทางร้านค้า ร้านอาหาร ก็สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ส่วนในด้านการตลาด ในปัจจุบันสามารถนำการผลิตตั้งแต่ต้นทาง ผู้เลี้ยงโค ผู้ขุนโค ผู้ที่เลี้ยงแม่ผลิตลูก ผู้รับซื้อ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด 19 ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ดังนั้นเป็นโอกาสดีที่บ้านเราจะพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศโดยลดการนำเข้าเช่นทุกวันนี้ โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร