นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Bangkok Fintech Fair 2020 ว่าที่ผ่านมา ธปท.ได้ผลักดันการใช้เทคโนโลยีให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป (ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น)เช่น การทำระบบพร้อมเพย์โอนเงิน โดยปัจจุบันมี 55.1 ล้านไอดีที่เป็นทั้งบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์และนิติบุคคล มียอดใช้สูงสุด 20 ล้านรายการต่อวัน และต่อยอดไปถึงการรับชำระเงินสแกนคิวอาร์โค้ดมีผู้รับแล้ว 6 ล้านไอดี ทั้งนี้ยอมรับว่า การปรับตัวเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์นั้น ส่งผลให้การใช้ธุรกรรมการใช้เงินแบบเดิมๆ ทั้งการเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม การถอนเงินสดในสาขาธนาคาร และการใช้เช็ค มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมเริ่มปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท.ยังมีแผนเดินหน้าผลักดัน ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย 1.เรื่องการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่จะขยายไปสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น โดยจะใช้มาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินมาตรฐานใหม่ เป็น ISO20022 จะมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่แค่ข้อมูลการโอนเงิน แต่จะลงรายละเอียดถึงรายละเอียดธุรกรรมที่ใช้ด้วย เพื่อนำไปใช้ในทางบัญชีที่สะดวกมากขึ้นโดยเรื่องดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานของการทำ e-invoicing การเปลี่ยนเปลี่ยนเรื่องมาตรฐานข้อมูลทางการเงิน การชำระเงิน จะต้องเป็นความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ธุรกิจ ห้างร้านต่างๆที่จะมีส่วนในการพัฒนาระบบหลังบ้านให้ร้านค้าด้วย คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีครึ่งที่จะได้เห็นในวงกว้าง 2.การมีข้อมูลเชิงลึก หรือข้อมูลรายธุรกรรม เพื่อใช้ในการตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นเจ้าของข้อมูล เช่น การเข้าถึงบริการทางการเงิน การเกิดการปรับรูปแบบบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบ 3.เรื่องดิจิทัลไอดี หากจะเข้าสู่โลกดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นได้จะต้องก้าวข้ามการยืนยันตัวตนให้เป็นการยืนยันแบบดิจิทัลได้ โดยปัจจุบันยังพบว่า เอ็นดีไอดียังคงเป็นแบบจำกัดบางภาคส่วน ดังนั้นจะต้องขยายไปธุรกิจการเงินอื่นๆเช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ บริการภาครัฐอื่นๆด้วย 4.การต่อยอดโครงการอินทนนท์ที่จะเชื่อมต่อกับระบบภาคธุรกิจ หากจะทำเรื่อง Central Bank Digital Currency(ซีบีดีซี) ให้เกิดผลได้จริงจะจำกัดแค่ธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ ในปี 63 ธปท.เริ่มทดสอบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีระบบการชำระเงินกับห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหวังว่า Central Bank Digital Currency ภายใต้โครงการอินทนนท์ จะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการชำระเงินระหว่างภาคธุรกิจกันเองได้ 5.ผลักดันสินเชื่อบุคคลดิจิทัล จะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าสู่บริการทางการเงิน ขอกู้ยืมเงินจากผู้ให้บริการทางการเงิน โดยอาศัยข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ต้องดูเรื่องเงินเดือน สลิปเงินเดือนเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา 6.ธปท.ร่วมกับหลายภาคี ในการสร้างระบบนิเวศใหม่ หรือดิจิทัล แฟคตอริ่ง เพราะแฟคตอริ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี เนื่องจากเวลาส่งของไปแล้ว แต่กว่าจะได้เงินจริงค่อนข้างนาน และง่ายต่อการปลอมแปลงเอกสาร ดังนั้น ธปท.จึงอยู่ระหว่างร่วมกับหลายภาคส่วน ในการจะพัฒนาฐานข้อมูลกลาง เพื่อสนับสนุนการทำดิจิทัล แฟคตอริ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอความเห็นจากประชาชน ภาคธุรกิจทั่วไป และจะนำความเห็นมาประกอบการออกแบบในการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ธปท.ได้จัดงานบางกอก ฟินเทค แฟร์ 2020 ซึ่งจัดขึ้นผ่านออนไลน์ เฟซบุ้คไลฟ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย-Bank of Thailand ในวันที่ 18-19 ก.ย.นี้ เพื่อต้องการส่งเสริมให้ประชาชน ภาคธุรกิจ ตระหนักถึงความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ และส่งเสริมให้ความร่วมรู้ของผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค สำหรับหัวข้อการจัดงานครั้งนี้คือ DIGITAL TRANSFORMATION FOR THE NEW NORMAL พร้อมรับวิถีใหม่ เอสเอ็มอี ก้าวต่อไปด้วยดิจิทัล สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คล้ายกับที่มีการกดปุ่มให้เดินไปข้างหน้าเร็วขึ้น(ฟาสต์ ฟอเวิด) ทำให้หลายอย่างที่คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ดังนั้นในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน โควิด-19 ได้มากดปุ่มนี้ ทำให้เราต้องเร่งในเรื่องของการปรับตัวให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลให้เร็วมากขึ้น