"ฝ่ายค้าน" ระดมทีมชำแหล่ะรบ.ถกงบวาระ2-3 "จิรายุ"นำร่องซัดใช้งบสุรุ่ยสุร่าย "สุทิน" ระบุแก้รัฐ ธรรมนูญต้องจบที่"ประชามติ" ด้าน"ไพบูลย์"ยื่นญัตติด่วนให้รัฐสภา มีมติส่งศาลรธน.ชี้ขาดปมฝ่ายค้านลงชื่อแก้ ไขรธน.ซ้ำซ้อน 4 ฉบับ ส่วนทำเนียบฯ ซ้อมแผนรับมือม็อบชุมนุมใหญ่ 19ก.ย.นี้ "ผบก.ส" ยันยังไม่มีสิ่งบ่งบอกความรุนแรง ขณะที่"นครบาล"แย้มใช้แผน"กรกฎ 52" คุมม็อบ "อดีตผอ.ออมสิน" พร้อมรับเก้าอี้รมว.คลัง มั่นใจรับแรงเสียดทานการเมืองได้ ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.45น. วันที่ 16 ก.ย.63นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท โดยจะใช้เวลา 3 วัน โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เริ่มอภิปรายเป็นคนแรก ในมาตรา 1 โดยขอแปรญัตติให้เพิ่มคำว่า "ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ"เข้าไปท้ายชื่อพ.รบ. โดยกล่าวว่า งบประมาณปี2564 เป็นงบที่คนจ่ายไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จ่าย เช่น การจัดซื้ออาวุธ ทำให้รู้สึกเอือมระอา เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นนักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กู้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงต้องการเติมคำ "ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ"เข้าไปท้ายชื่อร่างพ.รบ. เพื่อให้ตระหนักว่า งบประมาณเป็นภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินสุรุ่ยสุร่าย เป็นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลต้องตระหนัก ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอปรับแก้มาตรา 4 แก้งบประมาณเป็น 3.2 ล้านล้านบาท เพราะการประมาณการรายได้ส่งผลต่อการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในนโยบายการคลัง การประมาณการรายได้สูงเกินจริงเนื่องจากมีการประมาณการรายได้ก่อนการระบาดของโควิดในปี 2564 อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท โดยประมาณว่า GDP จะโต 1.8% แต่ประมาณการที่สูงเกินจริงส่งผลต่อขนาดการขาดดุลงบประมาณ จากเดิม ตามข้อมูลตามเอกสารงบประมาณ คือ GDP ปี 2563 -5.5 และ GDP ปี 2564 เป็น +5% แต่จากที่ตนศึกษาตัวเลขของสภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณอาจจะสูงถึง 902,983 ล้านบาท และทางกรรมาธิการได้ถามสำนักงบประมาณให้ประเมินตัวเลขใหม่แต่ก็ไม่ได้คำตอบ ซึ่งหากเลขที่ตนคำนวณมาเป็นจริง จะขัดกับเพดานการกู้ซึ่งมีเพียง 736,392 ล้านบาท เงินส่วนเกินก็ยังไม่รู้ว่าจะเอารายได้ส่วนไหนมาชดเชยโอกาสในการขาดดุลทะลุเพดานสูงมาก ช่องว่างในการขาดดุลทำได้เพียงหนึ่งแสนล้านบาท หากเก็บรายได้พลาดเป้าไปเพียง 4 % ของ GDP ก็จะทะลุเพดาน รัฐบาลจึงมี 3 ทางเลือก คือ การกู้เพื่อบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้องชำระคืนภายใน 120 วัน, ออก พ.ร.ก.เงินกู้อีกครั้ง, การตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ลงให้เหลือ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นทางออกเดียวที่ลดความเสี่ยงได้อย่างสมเหตุผลมากที่สุด ส่วน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องไปทำประชามติอยู่ดี ซึ่งเมื่อดูจากเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีการทำประชามติอยู่แล้ว ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้มีมติมอบหมายให้นายสุทินพร้อมคณะ ไปประสานงานพูดคุยกับวิปพรรคร่วมรัฐบาลและวิปส.ว. เพื่อพูดคุยถึงการแก้รัฐธรรมนูญ และหาทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งของประเทศ และเพื่อแสดงให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายการเมืองในระบบรัฐสภา ที่กำลังพยายามหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่มีแต่คำประกาศสวยหรูว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง พร้อมยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องเร่งแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญ หา เร่งถอนฟืนออกจากกองไฟ โดยการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวนผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เพื่อขอเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา210 (2) ของรัฐธรรมนูญ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา256 (1) โดย นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ พบว่า รายชื่อส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านไปซ้ำกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งประธานรัฐสภาได้สั่งบรรจุร่างฯเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว จึงมีปัญหาทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ ว่าส.ส.มีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละ 1 ฉบับหรือลงนามเสนอได้คราวละหลายฉบับ ดังนั้นการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ฉบับไม่ถูกต้อง และกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่จะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภาว่ามีญัตติมีหลักการซ้ำกันหรือไม่ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) จะให้อำนาจ ส.ส. และส.ว.ลงลายมือชื่อเสนอร่างได้คราวละฉบับหรือลงลายมือชื่อเสนอได้หลายฉบับก็ได้ในคราวเดียวกัน "ผมจึงขอเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 63 ข้อ 31 ประกอบข้อ 15 วรรคสอง ขอให้ท่านประธานรัฐสภาโปรดพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นญัตติด่วน ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญ กรณี มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ดังที่กล่าวมาข้างต้น" ส่วน นางวิสุนี บุนนาค รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายบริหาร เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการ เพื่อซักซ้อมแผนรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณา จักร(กอ.รมน.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจสันติบาล โดย พล.ต.ต.สุรชาติ มณีจักร ผบก.ส3 กล่าวว่า เป็นการประชุมซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัย โดยเบื้องต้นยังไม่มีสิ่งบ่งบอกว่าจะเกิดความรุนแรง จึงยังไม่มีอะไรน่าห่วงใย เราทำเพียงแค่คาดการณ์และเตรียมการไว้ ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวถึงแผนรับมือผู้ชุมนุม ในวันที่ 19 ก.ย. ว่า ทางตำรวจจะจัดกำลังให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่มาชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สนามหลวง และอนุสาว รีย์ประชาธิปไตย ส่วนโดยรอบพื้นที่การชุมนุม จะจัดจุดคัดกรองและตรวจอาวุธ 4 จุดและเตรียมใช่แผนกรกฎ 52 ควบคุมหากสถานการณ์บานปลาย วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวถึงความความคืบหน้าการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน นายปรีดี ดาวฉาย ที่ลาออกนั้น โดยมีชื่อ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่เพิ่งพ้นวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมด้วย นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และนายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตผู้บริหารเอสซีจี ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าจะได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ช่วงเดือนตุลาคม ล่าสุด นายชาติชาย พยุหนาวีชัย อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แต่ก็พร้อมที่จะช่วยชาติ และไม่กังวลกับแรงเสียดทานจากฝ่ายการเมือง เนื่องจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ก็ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน รวมถึงนักการเมืองมาโดยตลอด จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน