วีระ เกษตรสิน Head of Engineering บริษัท LINE ประเทศไทย กล่าวในงาน LINE Thailand Developer Conference 2020 ว่าทีมวิศวกรของบริษัท LINE ประเทศไทยรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ทำให้งานประชุมปีนี้เกิดขึ้นได้ เพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19 ได้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจของทุกคน เมื่อต้องออกจากกรอบความคิดเดิมและข้อจำกัดที่มี ทำให้สามารถมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ รูปแบบงานในปีนี้จึงพลิกโฉมประสบการณ์จากงาน LINE Thailand Developer Conference ในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง เพราะทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับงานจากที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ "LINE Developer community มีการเติบโตที่ดีมาก วันนี้ จำนวนนักพัฒนาใน community มีมากกว่า 17,000 คน จากปีที่แล้วอยู่ที่ 8,000 คน เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวภายในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้นเอง ผมต้องขอขอบคุณทีม Developer Relations กลุ่ม LINE AI Expert และนักพัฒนาทุกคนที่ร่วมกันสร้างสรรค์และผลักดันการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง" ตั้งแต่ต้นปี LINE API มีฟีเจอร์ใหม่เปลี่ยนแปลงหลายจุดเพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำไปต่อยอดในบริการของตัวเอง จำนวนนักพัฒนาที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้จำนวนแชทบอทบน LINE เติบโตขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบัน LINE มีแชทบอทรวม 130,000 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ใน 1 วัน มีผู้ใช้งานแชทบอทบน LINE มากกว่า 43 ล้านข้อความ และ LIFF app (LINE Front-end Framework) มีจำนวนเกิน 5,500 แอป ส่งให้ยอดผู้ใช้งาน LIFF app เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อวัน สำหรับไฮไลท์ของ Messenger API ที่ LINE อัปเดทภายในงาน คือการเพิ่มความสามารถที่จะเปลี่ยนไอคอนและชื่อแอคเคาท์เนมของออฟฟิศเชียลแอคเคาท์หรือแชทบอทได้อย่างเสรี ทำให้ลูกค้าองค์กรแถวหน้าของไทย อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถนำ Live Agent หรือทีมงานคนเข้ามาร่วมให้บริการกับแชทบอทบน SCB Connect เพื่อให้สามารถตอบคำถามของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนรูปภาพและชื่อแอคเคาท์สลับระหว่างแชทบอทและแอดมินได้อย่างลงตัว ทำให้ธนาคารสามารถนำแชทบอทมาให้บริการได้อย่างประหยัดค่าใช้จ่าย และทำงานได้ 24 ชั่วโมง โดยที่ลดปัญหาลูกค้ารู้สึกว่าแชทบอทไม่ฉลาดเพราะตอบคำถามผิดพลาด อีกทั้ง ทีม KBTG จากธนาคารกสิกรไทย ที่พัฒนาแชทบอท “ขุนทอง” ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญเรื่องการสร้างแชทบอทในกลุ่ม LINE เป็นการพัฒนา LINE API ที่ตรงใจผู้ใช้ได้อย่างโดดเด่นเพราะผู้ใช้ไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน และสามารถใช้ LINE LOGIN เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นผุ้ใช้ที่มาจาก LINE จริง ขณะที่ API ของ LINE ไม่เพิ่มต้นทุนให้บริการ ฟีเจอร์อื่นที่มีการอัปเดทคือ LINE Emoji ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถที่ส่งอิโมจิน่ารักผ่านข้อความที่เป็น Text Massage ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องแปลงเป็นโค้ด เพราะสามารถกำหนด Emoji ID แล้วแนบไปกับข้อความเพื่อส่งไปหาผู้ใช้ได้เลย นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่เปิดให้นักพัฒนารู้ว่าผู้ใช้ใช้งานภาษาอะไร ทำให้ส่ง Rich Menu ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น LINE ยังเพิ่ม Narrowcast API ให้นักพัฒนาส่งข้อความถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าเดิม สามารถเลือกส่งเฉพาะกลุ่มคนที่เคยเห็นข้อความก่อนหน้านี้เท่านั้น รวมถึง Multicast API ที่ปลดล็อคจากก่อนหน้านี้ที่สามารถส่งหาผู้ใช้ได้สูงสุด 150 คน มาเป็นการส่งได้สูงสุด 500 คนต่อ 1 รีเควสท์ และสำหรับ Rich Menu ที่นิยมมากในผู้ใช้ LINE Official Account การอัปเดททำให้ Official Account สามารถเปลี่ยนแปลง Rich Menu ด้วย API พร้อมกันสูงสุด 500 คน จากเดิมที่ทำได้ 150 คน ตอบโจทย์ Official Account ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก  ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจสูงสุดของไลน์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย LINE ได้เพิ่มความปลอดภัยให้องค์กรสามารถกำหนดอายุการใช้งาน Chanel  Access Token ซึ่งเป็นเหมือนกุญแจสำคัญในการใช้ LINE Messaging API ได้ดั่งใจ ขณะเดียวกันก็ปรับปรุง X-Line-Retry-Key แก้ปัญหาและลดข้อผิดพลาดในการส่งข้อความซ้ำ รวมถึง 2 Webhook Event ใหม่คือ Unsend Event ที่สามารถตรวจจับว่าผู้ใช้รายใดกดยกเลิกส่งข้อความหรือ unsend ในกลุ่มหรือห้องที่มีแชทบอทอยู่ และ Video Viewing Complete Event ที่สามารถตรวจจับผู้ใช้ที่ดูวิดีโอจบ ทำให้นักการตลาดสามารถส่งข้อความกลับไปพูดคุยต่อยอดกับผู้ใช้ รวมถึงสามารถวัดผลการชมวีดีโอจบได้ อีกส่วนที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในงาน คือ Flex Massage ที่นักพัฒนาสามารถออกแบบข้อความได้ตามจินตนาการ แล้วจึงส่งให้ผู้ใช้ทั้งทางโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต รวมถึง PC จากปี 2019 ที่มีการอัปเดทให้สามารถขยายข้อความเต็มหน้าจอ ล่าสุดการอัปเดทในปี 2020 คือการทำแอนิเมชันในข้อความได้ และเครื่องมือล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2019 ในปีนี้ LIFF หรือ LINE Front-end Framework ถูกปรับให้สามารถนำแอปไปใช้นอกแอป LINE  ได้ ขณะเดียวกันก็อัปเดทให้การแชร์ข้อความจาก LIFF app บน LINE ไปหากลุ่มเพื่อนผู้ใช้สามารถทำได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายขึ้น โดยที่ระบบสามารถทราบได้ว่าการแชร์ข้อความนั้นสำเร็จหรือไม่ อีกทั้ง ดาวรุ่งอย่าง LIFF ยังถูกปรับความสะดวกสบายในด้านการเทสต์หรือการทดสอบด้วย โดย LINE มีการเปิดคอร์สเรียน LIFF ฟรี คู่กับการเปิดตัว LINE Developers Codelabs เป็นพื้นที่ใช้ทุกคนฝึกพัฒนา 3 ทักษะทั้ง LIFF app, LINE Chatbot และ Flex Simulator สามารถติดตามที่ https://codelabs.line.me นอกจากนี้ไฮไลท์สำคัญ สำหรับผู้ประกอบการ SME คือ การประกาศเปิดตัว LINE Beacon สำหรับ SME เพื่อให้ธุรกิจขนาดย่อมสามารถซื้อฮาร์ดแวร์สำหรับปล่อยสัญญาณบลูทูธ แล้วนำมาติดหน้าร้าน เมื่อลูกค้าที่ใช้ LINE ซึ่งเปิด Bluetooth และโหมด LINE Beacon เดินผ่านมา ก็จะสามารถรับข้อความหรือโปรโมชันจากร้านได้ เบื้องต้นตัวอุปกรณ์กำลังเตรียมวางจำหน่ายในเร็ววันนี้ ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารระหว่างร้านค้าและลูกค้าเป็นไปปย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ภายในงาน ยังมีการเปิดตัวโครงการ LINE_HACK 2020 โดยประกาศรับสมัครผู้ที่สนใจนำ API ของ LINE ไปพัฒนาแล้วนำมาแสดงให้สาธารณชนได้รู้จักในเร็ววันนี้ (hackth.line.me)