สำหรับสถานการณ์การเปิดประเทศของเมืองไทยในเวลานี้เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง ทั้งพื้นที่นำร่อง อย่างภูเก็ตโมเดลที่ต้องชะลอการดำเนินการออกไป ด้วยทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.เป็นห่วงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของประชาชนในประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้คงจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อย ต้องทบทวน และหามาตรการให้รอบคอบ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยับ รวมทั้งสามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย ต้องรับมือและแก้ปัญหา โดย นางสาวอรพรรณ เหล่าประภัสสร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วิไลลักษณ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหารโรงแรมระยอง แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา โรงแรมระดับ 5 ดาว ริมทะเลหาดแม่พิมพ์ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในส่วนของการเปิดประเทศนั้น ถ้าเมืองไทยยังไม่ดำเนินการไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศขับเคลื่อนไปได้ โดยอยู่กันด้วยความกลัวก็ยิ่งทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งประเทศนับวันยิ่งทรุดตัวลง สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ travel bubble นั้น ถ้าหากเมืองไทยมีวิธีการจัดการที่ดี ประชาชนมีองค์ความรู้ และมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนก็น่าจะทดลองเปิดประเทศเป็นโซนๆ ไป หรือกำหนดเขตพื้นที่ เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งคนทำธุรกิจต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือและแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา เพราะในอนาคตหลังจากจบเรื่องไวรัสโควิด-19 แล้ว อาจมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีก ดังนั้นจึงต้องเปิดใจให้กว้างมองหาโอกาสในวิกฤติแต่ละครั้งให้ได้ สร้างความมั่นใจการควบคุม ด้าน นายเชิ้ท คว้อนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บันยัน ไทยแลนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า ในมุมมองของการเปิดประเทศ เพื่อรับกลุ่ม Travel Buble นั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีของประเทศไทย ซึ่งถ้ามีการควบคุมที่ดี ในการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี อย่าง การจัดทำ international travel buble แทนที่จะจัด travel buble น่าจะเป็นทางเลือกแรก โดยมีการทำหนังสือเดินทางในรูปแบบ Covid-19 Passport เพื่อสร้างความมั่นใจ ว่า นักเดินทางมีสุขภาพดีและปลอดภัยจากไวรัสโควิ-19 ขณะที่ บันยัน หัวหิน ได้ส่งเสริมการบริการที่พักอาศัยและสนามกอล์ฟสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีประมาณ 80% ของธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ แต่ด้วยเวลานี้ทั่วโลกต่างติดปัญหาในเรื่องของการเปิดพรมแดนข้ามประเทศของนักเดินทาง จึงทำให้ทางบันยัน หัวหิน ซึ่งมีจุดขายตรงที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตชั้ระดับลักชูรี่ หันมาทำตลาดในประเทศ โดยเริ่มต้นเปลี่ยนบันยันวิลเลจซึ่งก่อนหน้านี้เป็นรีสอร์ท พูลวิลล่าส่วนตัว 17 หลัง และบ้านพักติดสระว่ายน้ำลากูนข้างสระ 69 หลัง มาเป็นการบริการที่พักระยะยาวให้เช่า 25,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแล้ว ฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงรุก ส่วน นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงยุทธศาสตร์ฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงรุกแบบเร่งด่วนภายใต้ภูเก็ตโมเดล ว่า เป็นการสร้างทางรอดให้กับการท่องเที่ยวไทย ในการที่จะนำไปเป็นโมเดลนำร่องให้กับการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยวต่อไป ทั้งนี้จากการหารือกับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวในทุกๆ ด้านของ ภูเก็ต ได้มีข้อสรุปที่จะนำไปยื่นให้กับภาครัฐ เพื่อนำไปพิจารณาถึงการเปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยว มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1.Test on Arrival ทดสอบเมื่อมาถึง โดยมีโรงพยาบาลรองรับอยู่ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ จังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลสิริโรจน์ 2.Tacing การติดตาม จะนำแอปพลิเคชั่นที่ทางภาครัฐใช้อยู่แล้วสัก 1 แอปมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการติดตามเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น 3.Treating capacity การเยียวยา ในกรณีนี้ทางจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมรองรับผู้ป่วยขั้นโคม่าของโควิด-19 โดยเฉพาะถึง 50 เตียง 4.Targeting กำหนดเป้าหมาย โดยจะเป็นการเจาะจงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สามารถดูแล และติดตามได้อย่างเคร่งครัด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาถ้าภาครัฐบาลเห็นด้วยก็สามารถดำเนินการได้ทันที ก็น่าจะสร้างทางรอดให้กับการท่องเที่ยวภูเก็ต และจะกลายเป็นโมเดลให้กับจังหวัดอื่นๆ ในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปได้ เพราะถ้ายิ่งปล่อยเวลาไปอีกไม่กี่เดือนตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างงานมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมาได้รับการขับเคลื่อนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มี GDP จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 85% ของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งจังหวัด มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 14.4 ล้านคนในปี 2562 แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทย 4 ล้านคน มีรายได้รวมจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวม 480,000 ล้านบาท ด้านนาย ศุภฤกษ์ ศูรางกูร นายกสมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย (TBAA) กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงรุกในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ในเวลานี้ คงจะต้องรีบดำเนินการ เนื่องจากผู้ประกอบการในส่วนของ ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี คงไม่สามารถประคองธุรกิจไปได้นานมากนัก ดังนั้นการหาทางรอดธุรกิจระหว่างที่ยังหาบทสรุปของการเปิดน่านฟ้า เพื่อรับกลุ่มนักท่องเที่ยว Travel Buble ยังไม่ลงตัว จึงเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาด้วยชาร์เตอร์ไฟท์ หรือ ไพรเวทเจ็ท แต่ทั้งนี้และทั้งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับมาตรการการควบคุมโรคระบาดที่จะต้องอยู่ในเงื่อนไข และกรอบที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้เป็นอย่างดี