เมื่อวันที่ 16 ก.ย.,ที่รัฐสภา ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน3.3 ล้านล้านบาท วาระ 2-3 โดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง  ชี้แจงว่า กมธ.พิจารณางบประมาณของ 721หน่วยงาน มีการปรับลดงบประมาณทั้งหมด 31,965,549,000บาท จากรายการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และรายการที่สามารถปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนให้ประหยัดได้ เช่น การอบรมสัมมนา รวมถึงรายการที่มีการดำเนินการล่าช้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปี2564 เพื่อนำไปจัดสรรให้ส่วนราชการตามที่ครม.เสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น 17,419 ล้านบาท ได้แก่ รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ อัยการ ทำให้เหลืองบประมาณรายจ่ายปี2564 จำนวน 3.28ล้านล้านบาท จากนั้นเป็นการอภิปรายรายมาตรา โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ประธานอะลุ้มอล่วยเรื่องเวลาการอภิปรายที่ได้คนละ 7นาที ไม่เพียงพอ เพราะมีหลายประเด็นต้องพูด ถ้าได้แค่ 7นาทีคงไม่พอ เพราะตามข้อบังคับการประชุมสามารถอภิปรายได้ โดยไม่จำกัดเวลา กรอบเวลา 7นาทีเป็นแค่ข้อตกลง แต่ไม่ใช่ข้อบังคับการประชุม ถ้าจะเคร่งครัดให้แค่ 7นาที ฝ่ายค้านขอทวงสิทธิตามข้อบังคับการประชุมที่ให้พูดโดยไม่จำกัดเวลา แต่นายชวนยืนยันให้อภิปรายได้แค่คนละ 7นาที ตามที่ตกลงกันไว้ ถ้าให้พูดตามอำเภอใจ คงไม่ได้อภิปรายกันทุกคน ขอให้ใช้ความสามารถในการย่อความ แต่ฝ่ายค้านไม่ยอม พยายามทักท้วง โดยนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย โต้แย้งว่า ที่ผ่านมาฝ่ายค้านอนุโลมมามากพอแล้ว ยืนยันต้องได้อภิปรายมากกว่าคนละ 7นาที อย่าคิดว่าเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ แต่นายชวนไม่สนใจและตัดบทเข้าสู่การประชุมต่อไป            ต่อ เวลา 10.30 น.จึงเริ่มต้นอภิปรายมาตรา 1 ชื่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2564 ที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เริ่มอภิปรายเป็นคนแรก โดยขอแปรญัตติให้เพิ่มคำว่า “ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ”เข้าไปท้ายชื่อพ.รบ. โดยกล่าวว่า งบประมาณปี2564 เป็นงบที่คนจ่ายไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จ่าย เช่น การจัดซื้ออาวุธ เวลาลากรถถังออกมารัฐประหาร มีใครบ้างมาฟรี การใช้อุปกรณ์เหล่านี้มาจากภาษีประชาชน เป็นตัวอย่างได้ดีของคำว่า คนจ่ายไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จ่าย ยิ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อุปโลกน์ตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทำให้ตนไม่เชื่อมั่น รู้สึกเอือมระอา เพราะพล.อ.ประยุทธ์เป็นนักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่กู้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงต้องการเติมคำ“ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ”เข้าไปท้ายชื่อร่างพ.รบ. เพื่อให้ตระหนักว่า งบประมาณเป็นภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินสุรุ่ยสุร่าย เป็นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลต้องตระหนัก เพราะไม่ใช่เงินจากตระกูลของท่านหรือของใคร ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอปรับแก้มาตรา 4 แก้งบประมาณเป็น 3.2 ล้านล้านบาท เพราะ การประมาณการรายได้ส่งผลต่อการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในนโยบายการคลัง การประมาณการรายได้สูงเกินจริงเนื่องจากมีการประมาณการรายได้ก่อนการระบาดของโควิดในปี 2564 อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท โดยประมาณว่า GDP จะโต 1.8% แต่ประมาณการที่สูงเกินจริงส่งผลต่อขนาดการขาดดุลงบประมาณ จากเดิม ตามข้อมูลตามเอกสารงบประมาณ คือ GDP ปี 2563 -5.5 และ GDP ปี 2564 เป็น +5% แต่จากที่ตนศึกษาตัวเลขของสภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณอาจจะสูงถึง 902,983 ล้านบาท และทางกรรมาธิการได้ถามสำนักงบประมาณให้ประเมินตัวเลขใหม่แต่ก็ไม่ได้คำตอบ ซึ่งหากเลขที่ตนคำนวณมาเป็นจริง จะขัดกับเพดานการกู้ซึ่งมีเพียง 736,392 ล้านบาท เงินส่วนเกินก็ยังไม่รู้ว่าจะเอารายได้ส่วนไหนมาชดเชยโอกาสในการขาดดุลทะลุเพดานสูงมาก ช่องว่างในการขาดดุลทำได้เพียงหนึ่งแสนล้านบาท หากเก็บรายได้พลาดเป้าไปเพียง 4 % ของ GDP ก็จะทะลุเพดาน รัฐบาลจึงมี 3 ทางเลือก คือ การกู้เพื่อบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้องชำระคืนภายใน 120 วัน, ออก พ.ร.ก.เงินกู้อีกครั้ง, การตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ลงให้เหลือ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นทางออกเดียวที่ลดความเสี่ยงได้อย่างสมเหตุผลมากที่สุด