NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ มาทำความรู้จักกับ ALMA หนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อันทรงพลังที่นักดาราศาสตร์ใช้ไขความลับของเอกภพ “Atacama Large Millimeter/submillimeter Array” หรือ “ALMA” (อัลมา) เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ศึกษาวัตถุท้องฟ้าในช่วงความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตรไปจนถึงต่ำกว่ามิลลิเมตร (submillimeter) คล้ายกับกล้อง JCMT (James Clerk Maxwell Telescope) แต่แตกต่างกันคือ ALMA เป็นจานรับสัญญาณ ขนาด 7-12 เมตร จำนวน 66 จานทำงานร่วมกัน ตั้งอยู่ที่ทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี ALMA กับจานรับสัญญาณขนาดเล็กที่ศักยภาพเทียบเท่ากับจานขนาด 1,600 เมตร ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น กล้องโทรทรรศน์ก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น แม้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถ “มอง” ไปยังวัตถุอวกาศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่จะมีข้อจำกัดคือ กล้องจะมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่จะควบคุมได้อย่างอิสระ จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพกล้องด้วยการใช้กล้องขนาดเล็กหลาย ๆ ตัวทำงานร่วมกัน โดยยิ่งวางกล้องให้มีระยะห่างกันมากเท่าใด ก็จะยิ่งได้ศักยภาพในการใช้งานสูงขึ้น เรียกวิธีการนี้ว่า “Interferometry” ALMA ก็พัฒนามาจากแนวคิดนี้เช่นกัน ซึ่งประกอบด้วยจานรับสัญญาณขนาด 12 เมตร จำนวน 54 จาน และขนาด 7 เมตร จำนวน 12 จาน เมื่อทำงานร่วมกันแล้วจะเทียบเท่ากับกล้องโทรทรรศน์แบบจานเดี่ยวที่มีขนาดหน้ากล้องใหญ่ถึง 1,600 เมตร ซึ่งช่วยยืนยันการค้นพบ “ฟอสฟีน” บนดาวศุกร์ต่อจากกล้อง JCMT ทะเลทรายอาตากามา หนึ่งในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก เช่นเดียวกับกล้อง JCMT เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ALMA ก็ต้อง “หนี” ความชื้นไปให้ไกลที่สุดเช่นกัน ซึ่งบริเวณที่ตั้งของ ALMA อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 5,000 เมตร นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งมากที่สุดในโลกแล้ว ยังมีแนวเทือกเขาใหญ่ขนาบทั้งสองข้าง คอยปกป้อง ALMA จากสัญญาณรบกวนที่มาจากภาคพื้นโลก รวมถึงท้องฟ้าตอนกลางคืนแทบจะไม่มีมลภาวะทางแสงอยู่เลย จึงอาจกล่าวได้ว่า ทะเลทรายอาตากามาเป็นสถานที่ดูดาวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ALMA นอกจากจะทำงานด้วยกล้องจำนวน 66 ตัวแล้ว ยังสามารถทำงานร่วมกับกล้องอื่นที่กระจายอยู่ทั่วโลกได้อีก เรียกว่า “Very Long Baseline Interferometry (VLBI)” ซึ่งช่วยขยายศักยภาพของกล้องออกไปไกลอีกหลายเท่าตัว ดังเช่นเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่นักดาราศาสตร์สามารถถ่ายภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรก ALMA เองก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ “Event Horizon Telescope (EHT)” ซึ่งมีศักยภาพเปรียบได้กับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เท่ากับโลกทั้งใบ เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : [1] https://www.almaobservatory.org/en/factsheet/ [2] https://www.almaobservatory.org/en/about-alma-at-first-glance/privileged...