เมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ย.63 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand - FCCT) นางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ Parliamentarians at Risk: Reprisals against opposition MPs in Southeast Asia (เมื่อผู้แทนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง: ปรากฏการณ์การคุกคามสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) พร้อมผู้ร่วมเสวนาอีกสองท่าน คือนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ริซ่า ฮอนซิเวโรส วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ ซึ่งได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามประชาชน ที่ปัจจุบันได้ลามมาถึงตัวผู้แทนราษฎรแล้ว จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ร่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยการเสวนาในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผยแพร่ผลการวิจัยของหน่วยงานสมาชิกรัฐสภาอาเซียน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights - APHR) ภายใต้หัวข้อเดียวกันกับงานเสวนาวันนี้ ที่ทำการวิจัยในสามประเทศ คือไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี 2018 จนถึงวันนี้ มีสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านอย่างน้อย 27 คนแล้ว ที่ถูกผู้มีอำนาจหรือฝ่ายรัฐบาลใช้ข้อหาประดิษฐ์ในการเล่นงานและคุกคาม รวมทั้งการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ, การคุกคามโดยอำนาจฝ่ายบริหารโดยตรง, และการใช้กระบวนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวปลอมเพื่อด้อยค่าอย่างเป็นระบบ โดยในงานวิจัยดังกล่าวได้ยกการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในกรณีการคุกคามที่เกิดขึ้นด้วย โดยในช่วงหนึ่ง นางสาวพรรณิการ์ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนอยากกล่าวถึงก่อนที่จะเข้าเรื่องของพรรคอนาคตใหม่และเรื่องของตน คือเรื่องที่ประชาชนชาวไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้มาได้ 6 เดือนแล้ว ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อการควบคุมโรค แต่เมื่อไปดูข้อเท็จจริง จะเห็นว่าตอนนี้มีประชาชนกว่า 63 คนแล้วที่ถูกแจ้งข้อหาละเมิดพรก.ฉุกเฉินและถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองและจัดการชุมนุมทางการเมือง จากนั้น นางสาวพรรณิการ์ได้กล่าวต่อไป ถึงความเป็นมาของพรรคอนาคตใหม่และการกลายมาเป็นเป้าหมายของผู้มีอำนาจ โดยระบุว่าเมื่อพรรคอนาคตใหม่ก่อตั้งขึ้นแรกๆ รัฐบาลในขณะนั้นไม่ได้ให้ความสนใจกับเราเท่าไหร่นัก เราได้รับการดูถูกว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่หลังจากที่ผู้สมัคร ส.ส.ของเราได้รับเลือกเข้าสภาถึง 81 ที่นั่ง จนเป็นพรรคอันดับ 3 ของประเทศ กระบวนการโจมตีและคุกคามต่างๆก็เกิดขึ้นทันทีอย่างเป็นระบบ ต่างจากกระบวนการโจมตีและคุกคามที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าการโจมตีกันทางการเมืองเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและจงใจอย่างเห็นได้ชัด นั่นเป็นเพราะนโยบายที่ก้าวหน้าของพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในเชิงโครงสร้าง ได้รับการตอบสนองจากประชาชนในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเลย และ ส.ส.ทั้ง 81 คนของพรรคอนาคตใหม่ที่มาจากคนทุกรุ่นวัย ทุกอาชีพ ทุกเพศ มีความหลากหลาย สำหรับประชาชนแล้วนี่คือสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานแล้ว และเมื่อนั้นเราก็ได้กลายมาเป็นเป้าโจมตีของผู้มีอำนาจ นางสาวพรรณิการ์กล่าวต่อไป ว่าจากนั้นเราจึงได้เห็นกระบวนทำลายล้างที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ผู้มีอำนาจมีความคิดเพียงว่าจะใช้วิถีทางใดก็ได้ ขอแค่พวกเราต้องไม่เป็นรัฐบาล เริ่มจาการที่พรรคอนาคตใหม่ถูกกระบวนการลดจำนวน ส.ส.เพราะการคำนวนของ กกต.ที่ค้านสายตาประชาชน จนเหลือเพียง 81 คน ซึ่งตนขอเรียกว่าการรัฐประหารโดย กกต. ที่ส่งผลให้สมการการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนไปในที่สุด และเมื่อเราเข้ามาเป็นพรรคฝ่ายค้านแล้ว เราก็ได้กลายมาเป็นตัวอันตรายยิ่งขึ้นในสายตาของผู้มีอำนาจ พวกเราถูกแจ้งข้อหาถึง 27 ข้อหา รวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพยายามกำจัดเราออกจากสนามการเมืองให้ได้ นางสาวพรรณิการ์กล่าวต่อไป ว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ได้ส่งผลให้เกิดการถอดถอนนักการเมือง 11 คนออกจากสถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที ส่งผลให้ ส.ส.10 คนย้ายข้างทางการเมือง และสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดลงไป และที่สำคัญเสียงของประชาชนที่เลือกเรามา 6.3 ล้านเสียงหายไปในทันที ซึ่งจนถึงวันนี้ผู้มีอำนาจยังตอบคำถามเรื่องนี้กับประชาชนไม่ได้เลย ว่าการที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ประชาชนเลือกมาถูกยุบไปเพียงเพราะหัวหน้าพรรคให้พรรคกู้เงิน ทั้งๆที่ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ เป็นเรื่องที่ยุติธรรมอย่างไร นี่คือความไม่ยุติธรรมอย่างชัดเจน ประชาชนต่างตั้งคำถามถึงความยุติธรรม จนตามมาด้วยกระแสความเคลื่อนไหวชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศหลังจากนั้น แต่ประชาชนไม่ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเพราะพวกเขาอยากให้เราเป็น ส.ส. แต่เพราะพวกเขาเห็นว่านี่คือความไม่ยุติธรรม พวกเขาได้เห็นประเทศนี้ยุบพรรคการเมืองไปหลายสิบพรรคแล้ว จนพวกเขาก็รู้สึกว่ามันต้องพอได้แล้ว นางสาวพรรณิการ์กล่าวต่อไป ว่าอย่างไรก็ดี ตนอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่าเราไม่ใช่สาเหตุหลักสาเหตุเดียวที่ทำให้กระแสการชุมนุมในวันนี้เกิดขึ้น แต่การยุบพรรคอนาคตใหม่และการตัดสิทธิทางการเมืองของเราเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องเช่นนี้ถึงเกิดขึ้นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่เคยไปถึงเป้าหมายประชาธิปไตยทั้งๆที่เราเริ่มต้นมาแล้วถึง 88 ปี “นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมตอนนี้แม้แต่นักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือกระทั่งนักกิจกรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ออกมาเคลื่อนไหวแล้วโดยไม่สนใจอีกแล้วว่ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ พวกเขาออกมาประท้วงบนถนนเพื่อเรียกร้องประเทศไทยที่ดีกว่านี้ และการปฏิรูปที่แท้จริง รวมทั้งการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย เราต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้และรวดเร็ว เพราะมันเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าการปฏิรูปแบบค่อยไปค่อยไปในรอบ 88 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอ และไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง ตอนนี้ประชาชนกำลังเรียกร้องการปฏิรูปที่ฉับพลัน รวดเร็ว และถึงโครงสร้างที่แท้จริง และดิฉันภูมิใจอย่างมาก ที่ความพยายามอย่างเป็นระบบของพวกเขาในการทำลายพรรคอนาคตใหม่ ได้ส่งผลให้ประชาชนคนไทยที่มีความตื่นตัวทางการเมืองตื่นขึ้นมา และเลิกที่จะฝากความหวังกับองค์กร หน่วยงาน พรรคการเมือง หรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่งแล้ว แต่เลือกที่จะต่อสู้เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่านี้ ที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปด้วยตนเอง” นางสาวพรรณิการ์กล่าว นางสาวพรรณิการ์กล่าวในตอนหนึ่งด้วย ว่าการปกป้องสิทธิเสรีภาพของสมาชิกรัฐสภาเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกประเทศทั่วโลก ยกตัวอย่างในฐานะที่ตนเป็นสื่อมวลชนมาก่อน เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญมาก ไม่ใช่เพราะสื่อเป็นคนสำคัญมีอภิสิทธิ์ แต่เป็นเพราะสื่อมวลชนมีภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ ในการเผยแพร่ความจริงออกสู่สาธารณชน เช่นเดียวกับกรณีของสมาชิกรัฐสภา ที่สมาชิกรัฐสภาควรได้รับประกันสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เพราะพวกเราเป็นคนสำคัญ แต่เพราะพวกเรามีภารกิจอันศักดิ์สิทธิในการรับใช้ประชาชน เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนทุกคน แม้แต่ประชาชนที่ไม่ได้เลือกเรา ปกป้องประชาชน ตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิทธิเสรีภาพของสมาชิกรัฐสภาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตนไม่เคยเห็นสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ทำหน้าที่ถูกคุกคาม มีแต่เพียงสมาชิกรัฐสภาที่ทำหน้าที่รับใช้ประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจเท่านั้นที่ถูกคุกคาม หรือกระทั่งสังหารเอาชีวิต ดังนั้นการรับประกันสิทธิของสมาชิกรัฐสภา จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่สมาชิกรัฐสภาจะได้ทำหน้าที่รับใช้และปกป้องประชาชนอย่างที่ควรทำต่อไปได้