เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63 เวลา 10.00 น. ที่บริเวณศาลาธรรมสังเวช ภายในวัดประจำรัง ม.10 ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีบริษัทจัดหาและผลิตน้ำแห่งหนึ่ง ได้เข้ามาจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน ระหว่างหมู่ 5 ต.บางโรง อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา และ ม.10 ต.บางขนาก รวม 2 หมู่บ้านซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ในการเตรียมจัดตั้งโครงการจัดหาและผลิตน้ำใน จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะมีการก่อตั้งสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงขึ้นในพื้นที่ ม.5 ต.บางโรง บนเนื้อที่ 27 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากปากอ่าวรวมระยะทางประมาณ 110 กม. เพื่อนำไปเก็บไว้ยังพื้นที่สำรองน้ำในพื้นที่ ม.10 ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ในปริมาณ 140 ล้าน ลบม.ต่อปีหรือ 300,000 ลบม. ต่อวัน โดยจะใช้วิธีการสูบไปกักเก็บไว้แต่เฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น
ซึ่งในเวทีวันนี้ได้มีประชาชนผู้สนใจจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาเข้าร่วมรับฟังโครงการ และเสนอข้อคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เกินกว่าความคาดหมายถึงเกือบ 2 พันคน จนมีผู้คนล้นจากภายในศาลา และเก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้ไม่เพียงพอนั่ง จึงทำให้มีประชาชนอีกจำนวนมากนั้น ต่างพากันนั่งรับฟังการบรรยายโครงการของผู้จัดตั้งโครงการตามโคนต้นไม้ และยืนเรียงรายกันไปโดยรอบบริเวณศาลากันอย่างเนื่องแน่น ซึ่งส่วนใหญ่ต่างพากันเข้ามาร่วมคัดค้านการก่อตั้งสถานีสูบน้ำดังกล่าว โดยมีการกล่าวสะท้อนให้ทางบริษัทเล็งเห็นถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้าน ทั้งด้านความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพต่างๆ หลังจากได้เคยมีบริษัทบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำแห่งหนึ่ง ได้เคยเข้ามาก่อตั้งสถานีสูบน้ำอยู่ก่อนหน้าแล้วในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และได้ก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นตามมาอย่างมากมาย
โดยเฉพาะเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อช่วงต้นปีนี้ ที่ชาวบ้านต่างพากันสะท้อนให้ทางบริษัทที่กำลังจะเข้ามาสูบน้ำรายใหม่นี้ได้เล็งเห็นว่า จ.ฉะเชิงเทรา ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนถึงขั้นวิกฤตทำให้ชาวนาต้องซื้อน้ำทำนา และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาไม่มีน้ำเติมบ่อกุ้ง บ่อปลา น้ำอุปโภคบริโภคขาดแคลน และน้ำเค็มหนุนตัวสูงอยู่แต่ภายในลำน้ำ จนทำให้ทุกภาคส่วนที่ต้องใช้น้ำขาดแคลนน้ำจืด
ขณะที่ทางบริษัทได้มีการแถลงนโยบายในการเข้ามาบริหารการใช้น้ำ และตั้งสถานีสูบน้ำว่า ทางบริษัทนั้นมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดทรัพยากรน้ำมาอย่างมาก เนื่องจากผู้บริหารส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดนั้น เคยเป็นข้าราชการในส่วนของงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับประเทศมาแล้ว โดยหลังจากเกษียณอายุราชการจึงอยากจะนำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่เคยมีสั่งสมมานาน นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุดต่อไป
และเพื่อต้องการให้ชาว จ.ฉะเชิงเทรา มีน้ำสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ และรองรับต่อการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ จนทำให้การประปาทั้งในพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บางปะกง อ.บางคล้า มีน้ำไม่เพียงพอ จึงส่งผลทำให้น้ำประปามีคุณภาพค่อนข้างต่ำ ทางบริษัทจึงต้องการที่จะเข้ามาเสริมขีดความสามารถและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใน จ.ฉะเชิงเทรา ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรน้ำไว้รองรับภาคอุตสาหกรรม และพื้นที่อีอีซี ในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตามได้มีตัวแทนชาวบ้าน ผู้นำชุมชนทั้งระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และ ส.อบจ. ต่างพากันแสดงความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการคัดค้านการก่อตั้งโครงการสถานีสูบน้ำดังกล่าวนี้ในพื้นที่ เช่น นายอมรชัย ปิ่นเจริญ อายุ 41 ปี ชาว ต.ก้อนแก้ว อ.คลองเขื่อน กล่าวว่า ผู้นำเสนอโครงการพูดแต่ในเรื่องของการจัดหาน้ำ การสูบน้ำไปไว้เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาพื้นที่พิเศษ (อีอีซี) แต่ไม่ยอมพูดถึงชาวบ้านผู้ใช้น้ำชาว อ.เมือง บางคล้า บางน้ำเปรี้ยวและคลองเขื่อนเลย
ขณะที่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ ก็เคยมีสถานีสูบน้ำของบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว จนทำให้น้ำในภาคเกษตรในพื้นที่ แทบจะมีไม่เพียงพอที่จะใช้ และทำให้ขาดแคลนอย่างเช่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยที่ชาวบ้านนั้นไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบอะไรได้เลย ภายในบริษัทสูบน้ำแห่งดังกล่าวว่ามีการบริหารจัดการในการสูบน้ำอย่างไร
ขณะที่ นายวิชาญ พานแก้ว ชาวบ้านจาก อ.บางน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า แม่น้ำบางปะกงเริ่มต้นตั้งแต่ อ.บางปะกง บ้านโพธิ์ เมืองฉะเชิงเทรา บางคล้า คลองเขื่อน บางน้ำเปรี้ยว และบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี แต่ทางบริษัทเลือกที่จะเข้ามาทำเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นแค่เฉพาะเพียง 2 หมู่บ้านใน 2 ตำบลเท่านั้น จึงไม่ได้อยู่ในหลักของธรรมาภิบาลในการับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย
“ที่ผ่านมาชาวบ้านขาดน้ำจนต้องซื้อน้ำมาใส่ท้องนาทำนา เพราะเดิมได้มีบริษัทอีกแห่งหนึ่ง มาตั้งสถานีดูดน้ำออกไปจากพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว และทางบริษัทนี้จะเอาน้ำจากที่ไหนมาดูดอีก เพราะน้ำเค็มยังไม่เคยลงไปสุดจนถึงยังปากอ่าวเลย มานานหลายปีแล้ว โดยล่าสุดเพิ่งเลื่อนลงไปจาก อ.บ้านโพธิ์ และชาวบ้าน อ.บ้านโพธิ์ เพิ่งจะได้ทำนากันในตอนนี้” นายวิชาญ ระบุ
ด้าน นางกล้วยไม้ เหลือเริ่มวงษ์ อายุ 42 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 ต.บางเล่า อ.คลองเขื่อน กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกุ้งขาว เดือดร้อนมาก เพราะไม่มีน้ำเติมบ่อกุ้งเลย ทั้งที่อยู่ติดใกล้กับแม่น้ำบางปะกง แต่กลับไม่มีน้ำจืดเติมลงใส่บ่อเลี้ยง เนื่องจากน้ำเค็มใช้เติมลงบ่อกุ้งก้ามกรามไม่ได้ ทำให้การประกอบอาชีพทำกินเสียหายได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะขาดแคลนน้ำจืด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประชาชนที่เดินทางมาเข้าร่วมเวทีประชาคมในวันนี้นั้น ต่างเดินทางมาร่วมเวทีอย่างหลากหลาย เกือบตลอดลุ่มน้ำทั้งจาก ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง ต.ท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี อ.บางคล้า อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.คลองเขื่อน และ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ที่ต่างพากันเดินทางมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านการก่อตั้งสถานีสูบน้ำดังกล่าว จนทำให้ผู้บริหารโครงการนั้น ได้รับปากว่าจะนำกลับไปพิจารณาทบทวนการก่อตั้งโครงการ ก่อนที่จะประกาศปิดการประชุมต่อไป
++++++++++