TPCH ประเมินผลงานไตรมาส 3/63 แจ่ม อานิสงส์รับรู้รายได้โรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมจำนวน 7 แห่ง กำลังการผลิตรวม 83 เมกะวัตต์ เดินหน้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หลังรัฐบาลเปิดให้ยื่นประมูล มั่นใจปี 63 มีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลแตะ 109 เมกะวัตต์ หนุนรายได้เติบโตตามเป้าหมาย นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 3/2563 คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดี เนื่องจากบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิม จำนวน 7 แห่งประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP),โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) โรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 83 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมทยอย COD ของโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 3 แห่ง มีขนาดกำลังการผลิตรวม 26 เมกะวัตต์ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้า ทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5) กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถ COD ภายในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 109 เมกะวัตต์ สำหรับผลงานในไตรมาส 3 ของปีนี้ น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการ COD โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่เดิม 7 แห่ง อีกทั้งบริษัทจะทยอย COD โรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH 5,TPCH 1 และ TPCH 2 ตามลำดับ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องรอเจ้าหน้าที่วิศวกรจากต่างประเทศเข้ามาตรวจรับโครงการ และต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐประกาศนโยบายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยได้ ซึ่งบริษัทมีการปรับตัวโดยการใช้ Video Conference ในการทดสอบระบบและการใช้รีโมทควบคุมงานภาคปฏิบัติในกระบวนการทำงาน โดยคาดว่าจะสามารถ COD โรงไฟฟ้าชีวมวลตามแผนภายในปีนี้ได้ จะช่วยสนับสนุนให้ผลงานในปีนี้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน ประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงเป้าหมายจะมีใบอนุญาตในการขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขยะให้ครบ 250 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ 200 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 110 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่ 50 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ 10 เมกะวัตต์ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน พร้อมกันนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการขยายการลงทุนใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้รายได้ กำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หากรัฐบาลเปิดให้ภาคเอกชนสามารถยื่นเสนอโครงการได้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอยู่ระหว่างการพัฒนาอีกประมาณ 3 โครงการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 โครงการ และในภาคใต้อีก 1 โครงการ นอกจากนี้บริษัทได้มีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง “เรามีความพร้อมในการยื่นเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เนื่องจากบริษัทมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และการใช้เทคโนโลยีต่างๆในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า และบริษัทได้มีการลงพื้นที่เพื่อหารือกับวิสาหกิจชุมชนถึงแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนของ TPCH ส่วนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ และอีก 1 โครงการทางภาคเหนือ กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาโครงการ โดยมั่นใจว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศไทย ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก” สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 832.42 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 178.65 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 439.06 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 92.93 ล้านบาท ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยจ่ายเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.088 บาทต่อหุ้น ซึ่งการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทและได้กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 3 กันยายน 2563