ปัจจุบันการโจมตี หรือว่าการถูกเจาะข้อมูลบนโลกออนไลน์ มีปริมาณมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสวมรอยบัญชีผู้ใช้ในโลกโซเชียล การขโมยข้อมูลการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือการเรียกค่าไถ่ในการเข้าถึงข้อมูลทั้งในส่วนบุคคลหรือว่าองค์กร ซึ่งสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบในเชิงสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และบริหาร ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่าดีป้าได้เร่งดำเนินการตอบโจทย์การพัฒนาด้านดิจิตอลของประเทศ ทั้งในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสำนักงานคือการพัฒนากำลังพลทางด้านดิจิทัลของประเทศ โดยการพัฒนาความรู้ ทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีความมั่นคงปลอดภัย
โดยทางดีป้า, สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย และพันธมิตร (Reinvent Academy, Codekit Innovation และ So Secure) จึงเห็นความสำคัญในการเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถที่จะตอบโจทย์ต่อความต้องการด้านการป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Security) จึงจัดโครงการ White hat Hacking for Security ซึ่งเป็นกิจกรรมอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ตั้งแต่วันที่ 1-16 สิงหาคม 2563 โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมถึง 142 คนจากทั่วประเทศ จากหลากหลายสายงาน ทั้ง IT, โรงพยาบาล, การเงิน, อาจารย์, และหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เข้าใจกระบวนการของการรักษาความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ โดยเน้นในการทดสอบด้านการเจาะระบบ (Penetration Testing) จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตรงจากสายงาน Cyber Security ในระดับประเทศ ซึ่งทางสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนสายงานมาทำงานด้าน Cyber Security ให้มากขึ้นเพื่อตอบรับความขาดแคลนในบุคลากรด้านนี้ ตามรอยโครงการของสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย Software Park Thailand Code Camp ที่ผลิตโปรแกรมเมอร์จากสายอาชีพอื่น เช่น ครูพละ บาร์เทนเดอร์ คนขับแท๊กซี่ ออกมาอย่างต่อเนื่องแล้วถึง 5 รุ่น
และกิจกรรมเกมการแข่งขัน Capture The Flag ในวันที่ 12 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้มีพื้นที่ในการแสดงทักษะและศักยภาพด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งภายในกิจกรรมนี้ได้ผู้ชนะการแข่งขัน การทำทดสอบเจาะระบบ (Penetration Testing) ในรูปแบบ Attack Simulation โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ได้แก่ นายศุภเกียรติ สาธุวรรณ รองชนะเลิศอันดับ 1 นายศิวพงษ์ นิยมพานิช และรองชนะเลิศอันดับ 2 นายวรรษ์ชิษณุพงศ์ วิศว์วัชร์มนตรี
สำหรับผู้ที่สนใจในกิจกรรมการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัล สามารถติดตามเว็ปไซต์ของทางดีป้า หรือ ทางแฟนเพจของสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ซึ่งจะมีกิจกรรมและคอร์สอบรมมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางด้านการเขียนโปรแกรม และการป้องการคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Security) และหากสนใจทางด้านธุรกิจ และการตลาดทางด้านดิจิทัลสามารถติดตามได้ทางเพจ Reinvent Academy ซึ่งจะอัพเดตข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการทำงานในโลกดิจิทัล


