ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล-ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมประชุมหารือเรื่องพืชกระท่อมกับนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. (ที่ 4 จากซ้าย) เมื่อเร็วๆ นี้ การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นการประชุมเพื่อรวบรวมข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาคประชาชนทั่วประเทศ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 แล้ว ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding - MoU) ระหว่างสภาองค์กรชุมชนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ด้วย !! สภาองค์กรชุมชนจับมือ ป.ป.ส.ขับเคลื่อนพืชกระท่อมในพื้นที่นำร่อง สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในชุมชนร่วมกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ตลอดจนเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน (ดูรายละเอียด พ.ร.บ. และขั้นตอนการจัดตั้งสภาฯ ได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%CA77/%CA77-20-2551-a0001.pdf) ปัจจุบัน (กันยายน 2563) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนมีอายุย่างเข้า 12 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วจำนวน 7,825 แห่ง ถือเป็นสภาของประชาชนที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย สิทธิชุมชน ส่งเสริมอาชีพ สุขภาพอนามัย ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ โดยในแต่ละปีจะมีการประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติประจำปี 2563 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ) ขณะเดียวกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามที่จะ ‘ปลดล็อกพืชกระท่อม’ ออกจากพืชยาเสพติด เพื่อนำมาเป็นพืชสมุนไพร ใช้ทางการแพทย์ การพาณิชย์ อุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่างประเทศ เช่นเดียวกับกัญชาที่มีการปลดล็อกไปก่อนหน้านี้แล้ว ในสมัยที่ยังไม่มียาฝรั่งหรือการแพทย์แผนปัจจุบัน หมอพื้นบ้านจะนำใบกระท่อมมาใช้เพื่อแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท ในภาคใต้ของไทยนิยมใช้ใบกระท่อมเคี้ยวกลืนเพื่อให้ทำงานได้ทนทาน และใช้รักษาโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน แก้ปวดท้อง ไอ เจ็บคอ แก้ปวดฟัน ในมาเลเซียใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และนำใบมาเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ฯลฯ จากสรรพคุณทางยาหลายชนิดของกระท่อม สถาบันการศึกษาในประเทศไทยหลายแห่งได้ให้ความสนใจศึกษาและวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงด้านยา และฟื้นฟูภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินงานศึกษาวิจัยพืชกระท่อมตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน พบสารมิตรากัยนิน (mitragynine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์หลักในพืชกระท่อม มีคุณสมบัติทำให้สามารถลดปริมาณอาหารและน้ำที่บริโภคลดการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็กส่วนต้น คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด เพิ่มอัตราการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ บรรเทาอาการถอนยาจากเอทานอลและมอร์ฟีนในสัตว์ทดลองได้ ฯลฯ  ใบกระท่อม โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เห็นชอบในหลักการให้ปลดกระท่อมออกจากพืชยาเสพติด และจัดทำร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ...) พ.ศ..... (การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) เพื่อให้ผ่านเป็นกฎหมายออกมาใช้ ดังนั้น ป.ป.ส.จึงบันทึกความร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายพืชกระท่อม เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนตำบลมีการจัดตั้งขึ้นมาเกือบทั่วประเทศ เพื่อบริหารจัดการพืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ ศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้แก่ประชาชน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิด ใช้พื้นที่ 130 หมู่บ้านนำร่องพืชกระท่อม การลงนาม MoU ครั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบล มีหน้าที่ ดังนี้ 1.สร้างความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่ ทำระบบฐานข้อมูล ค้นหาสายพันธุ์พืชกระท่อมที่เหมาะสมกับท้องถิ่น 2.ใช้สมัชชาตำบลสร้างข้อตกลงร่วมกันในการนำไปสู่ธรรมนูญตำบลปลอดยาเสพติด 3.ร่วมเฝ้าระวัง ขึ้นทะเบียน ตามแนวทางการจัดระเบียบพืชกระท่อม เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชุมชน สำนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่ ดังนี้ 1.เป็นศูนย์กลางการประสานหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในลักษณะบูรณาการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ตำบล 2.สนับสนุนการพัฒนาแกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อสร้างความเข้าใจ วางแผนการขับเคลื่อน การเชื่อมโยง ประสานงานความร่วมมือทุกภาคส่วน ฯลฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีหน้าที่ ดังนี้ 1.สนับสนุนสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อสร้างความร่วมมือความเข้มแข็งของชุมชน 2.สนับสนุนข้อตกลงร่วมกันในการสร้างธรรมนูญตำบลปลอดยาเสพติด ฯลฯ ตามแผนงานหลังจากมีการลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งการปรับปรุงและแก้ไขกฏหมายแล้ว จะมีการขยายพื้นที่นำร่องการขึ้นทะเบียนตามแนวทางการจัดระเบียบพืชกระท่อม ในพื้นที่ 130 หมู่บ้าน รวม 10 จังหวัด เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ฯลฯ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 26/5 (4) กำหนดว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ สามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ต้นกระท่อมที่ตำบลน้ำพุ บ้านน้ำพุ จ.สุราษฎร์ธานี ต้นแบบ ‘น้ำพุโมเดล’ สงคราม บัวทอง กำนันตำบลน้ำพุ และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า เมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ตนจึงได้เสนอให้ใช้พื้นที่ตำบลน้ำพุเป็นพื้นที่ศึกษา อีกทั้งชาวบ้านก็มีความพร้อมอยากจะให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่ากระท่อมเป็นยาเสพติด หรือเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์กันแน่ ? “ผมเห็นว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลปลูกกระท่อม ใช้กระท่อมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และใช้กันมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นจากการใช้กระท่อม ทั้งเรื่องอาชญากรรม การลักขโมย การทะเลาะวิวาท หรือวัยรุ่นมั่วสุมเสพน้ำกระท่อมก็ไม่มี จึงอยากให้ตำบลน้ำพุเป็นต้นแบบในการจัดการเรื่องกระท่อม” กำนันสงครามเล่าความเป็นมาของการศึกษาวิจัยกระท่อมที่ตำบลน้ำพุ เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ศึกษาด้านผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาผลกระทบด้านสังคมและชุมชน การศึกษาวิจัยเรื่องกระท่อมที่ตำบลน้ำพุนี้ มีโจทย์ร่วมกันว่า “หากมีการผ่อนปรนให้เคี้ยวกระท่อมในวิถีดั้งเดิมได้ จำนวนใบที่เคี้ยวต่อคน ต่อวัน กี่ใบจึงจะเหมาะสม และจำนวนต้นกระท่อมกี่ต้นจึงจะเหมาะสมต่อครัวเรือน รวมทั้งการควบคุมโดยชุมชนมีส่วนร่วม จะมีแนวทางหรือกระบวนการใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาครัฐ หากมีการปลดล็อกกระท่อม” ในปี 2560 จึงเริ่มจัดเวทีประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยมีข้อตกลงร่วมกันของชาวบ้านว่า ให้ชาวบ้านปลูกหรือมีกระท่อมได้ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 3 ต้น หากเกินให้ตัดทิ้ง แต่ถ้ามีไม่ถึง 3 ต้น ไม่ให้ปลูกเพิ่ม หลังจากนั้นจึงขยายผลไปทั้งตำบล โดยมีวิธีการสำรวจและศึกษา คือ 1.ใช้อากาศยานไร้คนขับจับพิกัด GPS ครัวเรือนที่ปลูกกระท่อม 2.ใช้แบบสอบถามครัวเรือน 3.สำรวจต้นกระท่อม วัดเส้นรอบวง วัดความสูงของต้น ใช้อากาศยานฯ จับพิกัด GPS ต้นกระท่อม 4.ติดตั้ง Mobile App / QR- code ที่ต้นกระท่อมเพื่อเก็บข้อมูล และขึ้นทะเบียนผู้ปลูกกระท่อมฯลฯ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ตำบลน้ำพุมี 6 หมู่บ้าน จำนวน 1,920 ครัวเรือน มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนปลูกกระท่อม 655 ครัวเรือน (ร้อยละ 34.11) ต้นกระท่อมที่สำรวจพบ 1,912 ต้น ต้นกระท่อมติด QR-code จำนวน 1,578 ต้น (ร้อยละ 82.53) ต้นกระท่อม (เกินครัวเรือนละ 3 ต้น) ที่ตัดทำลาย 334 ต้น (ร้อยละ 17.47) QR- code  ที่ต้นกระท่อมเพื่อเก็บข้อมูล  ใช้ ‘ธรรมนูญตำบล’ ควบคุมกระท่อม-สร้างเศรษฐกิจชุมชน กำนันสงคราม อธิบายว่า ธรรมนูญตำบล คือข้อตกลงร่วมกันของชาวตำบลน้ำพุ เพื่อสร้างกฎ กติกาขึ้นมาควบคุมการใช้กระท่อม โดยมีการสอบถามความคิดเห็นหรือทำประชาคมจากชาวบ้านทั้งตำบล แล้วนำมาร่างเป็นธรรมนูญตำบล เรียกว่า ‘ธรรมนูญตำบล เพื่อการควบคุมพืชกระท่อมและสร้างชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติดพืชกระท่อม พื้นที่ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี’ มีสาระสำคัญ เช่น มีคณะกรรมการระดับหมู่บ้านและตำบลควบคุมการใช้ธรรมนูญตำบล มีข้อห้าม เช่น 1.ห้ามครัวเรือนที่ไม่ปลูกกระท่อมปลูกใหม่โดยเด็ดขาด 2.ห้ามบุคคลในครัวเรือนซื้อขายพืชกระท่อม 3.ห้ามนำพืชกระท่อมออกจากตำบล 4.ห้ามเด็กเยาวชนนั่งมั่วสุมและมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเสพพืชกระท่อม 5.ห้ามมีการผลิต ปรุงน้ำกระท่อม ฯลฯ การปฏิบัติของผู้เสพพืชกระท่อม 1.ต้องลงทะเบียนประวัติกับผู้ใหญ่บ้าน 2.ต้องเข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่มีวาระเกี่ยวกับพืชกระท่อม 3.ต้องตรวจสุขภาพประจำปีตามแผนของ รพ.สต. 4.ผู้ที่มีใบรับรองจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านให้พกพาพืชกระท่อมในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรท่าชีได้ไม่เกิน 30 ใบ 5.ผู้ใดหรือครอบครัวใดฝ่าฝืนให้คณะกรรมการฯ ตัดทำลายพืชกระท่อมทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ศุภวัฒน์  กล่อมวิเศษ  ชาวบ้านตำบลน้ำพุ   ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระท่อม ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ ชาวบ้านตำบลน้ำพุ ในฐานะผู้ใช้พืชกระท่อมและศึกษาเรื่องกระท่อมมายาวนาน กล่าวว่า จากการศึกษาเบื้องต้นของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า มีการใช้พืชกระท่อมบำบัดรักษาโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และใช้ทดแทนมอร์ฟีนแก้ปวด ซึ่งหากผลการศึกษายืนยันว่าพืชกระท่อมมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ ดังกล่าว จะสามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าได้สูง เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของชาวบ้าน ทดแทนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ราคาตกลงทุกวัน “หากมีการปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว ผมอยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ โดยการปลูกกระท่อมเพื่อส่งใบจำหน่ายให้แก่องค์การเภสัชกรรม หรือมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค รวมทั้งทดแทนการนำเข้ามอร์ฟีน เพราะประเทศไทยนำเข้ามอร์ฟีนทางการแพทย์ประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท โดยจะเสนอให้ชาวบ้านตำบลน้ำพุ 1 ครัวเรือน ปลูกกระท่อมได้ครัวเรือนละ 100 ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ โดยปลูกแบบควบคุมในตาข่ายหรือกระโจม” ศุภวัฒน์บอกถึงข้อเสนอ กำนันสงคราม กล่าวเสริมว่า ถ้าปลูกกระท่อม 1 ไร่ ชาวบ้านจะมีรายได้มากกว่าปลูกยางพาราอย่างน้อย 10 เท่า เพราะขณะนี้ยางพาราราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 40-50 บาท ส่วนกระท่อม 1 กิโลฯ จะมีใบประมาณ 700 ใบ ราคาประมาณกิโลฯ ละ 1,000 บาท ถ้าปลูกกระท่อม 1 ต้น จะมีรายได้ประมาณเดือนละ 3,000 บาท/ต้น ต้นกระท่อมที่ตำบลน้ำพุต้องใช้ไม้สอยหรือปีนเพื่อเก็บใบ “กระท่อมเป็นพืชท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิจัยด้านสุขภาพและอวัยวะต่างๆ พบว่ามีผลกระทบน้อย จุฬาลงกรณ์ฯ ก็มาวิจัยด้านสังคมที่ตำบลน้ำพุแล้ว พบว่ากระท่อมไม่ได้ทำลายสังคม แต่ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ไม่เหมือนกับสุราที่ทำให้ทะเลาะกัน แต่ก็ต้องมีการควบคุมการใช้ เช่น ไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้ ไม่ให้ผสมแบบ 4 คูณ 100 และหากปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว ผมก็อยากให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ปลูกเพื่อทำยารักษาโรคต่างๆ โดยใช้ตำบลน้ำพุเป็นต้นแบบ และขยายไปในพื้นที่ที่มีความพร้อมต่อไป” กำนันสงครามกล่าวทิ้งท้าย