ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง: ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตามข้อมูล ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เมื่อแรกสร้างพื้นที่แห่งนี้เป็นท้องทุ่ง มีสัณฐานคล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ต่อมาได้จึงได้รับการจัดขึ้นให้เป็นสถานที่ประกอบพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา ตามแบบอย่างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา จนประชาชนเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า ทุ่งพระเมรุ แม้ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ท้องสนามหลวง เพื่อแสดงให้นานาประเทศให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสยามก็ตาม แต่ถึงกระนั้นราษฎรยังคงนิยมเรียกพื้นที่นี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ” จนล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุ คนอ้างกันซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ทุ่งพระเมรุ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ท้องสนามหลวง” พร้อมกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์ขึ้นอีกด้วย ถึงแม้ท้องสนามหลวงจะมีความสำคัญขึ้นโดยลำดับ หากแต่พื้นที่ยังมีขนาดเล็ก ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงท้องสนามหลวงครั้งใหญ่ ซึ่งแต่เดิมท้องสนามหลวงมีขนาดเพียงครึ่งเดียวของท้องสนามหลวงในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ทิศเหนือยังเป็นพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของวังเจ้านายวังหน้า และถนนจักรวรรดิวังหน้า หลังจากยกเลิกตำแหน่งมหาอุปราช มาเป็นการตั้งมกุฎราชกุมารตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ในยุโรป จึงมีพระราชดำริว่า “...สถานที่ต่างๆ ในวังหน้าที่ไม่เป็นสิ่งสำคัญจะลงทุนบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ควรรักษาไว้แต่ที่เป็นสิ่งสำคัญ...” จึงปรับพื้นที่สนามม้าวังหน้าผนวกรวมเข้ากับพื้นที่ท้องสนามหลวง หากแต่การปรับปรุงยังคงค้างอยู่ ทำให้ท้องสนามหลวงในเวลานั้นมีรูปลักษณ์คล้ายกับผีเสื้อ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ทรงนำสิ่งทอดพระเนตรจากตะวันตกมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศสยามให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของท้องสนามหลวง ในฐานะส่วนหนึ่งของการสรรสร้างสภาพแวดล้อมของพระนครด้วยบรรยากาศแห่งความศิวิไลซ์และทันสมัยเช่นเดียวกับมหานครในชาติตะวันตก ปรับปรุงพื้นที่ท้องสนามหลวง ถมดิน เกลี่ยให้เรียบร้อยเสมอกัน ทำรั้วรอบสนามเป็นขอบเขต ใช้เวลาปรับปรุง 6 เดือน จึงแล้วเสร็จ พื้นที่ท้องสนามหลวงกว้างขึ้น จากรูปลักษณ์ที่เคยมีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ให้เป็นรูปวงรีเป็นมุมโค้งมนสมมาตรกันทั้ง 4 ด้าน ปลูกต้นมะขามเรียงคู่เป็น 2 แถวรายรอบเพื่อความร่มรื่นและสวยงาม ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป พ.ศ. 2440 ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆ แล้ว ยังให้ใช้เป็นสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟอีกด้วย ล่วงมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ของประเทศ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530, พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 รวมทั้งงานพระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป มาแล้ว 6 ครั้ง นอกจากนี้ ท้องสนามหลวงยังเคยถูกใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ของสาธารณชน เช่น ตลาดนัด การปราศรัยใหญ่หาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หรือชุมนุมทางการเมืองต่างๆ รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม กีฬา การละเล่นต่างๆ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ดีในช่วงปี พ.ศ. 2553 กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสนามหลวง จากเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น เปิดใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 แต่ครั้งนี้ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้เพื่อสงวนท้องสนามหลวงไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีเท่านั้น และเพื่อคงความสวยงามของท้องสนามหลวง โดยผู้ที่ต้องการขอใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต้องทำเรื่องขอจากกรุงเทพมหานครทุกครั้ง ปัจจุบันท้องสนามหลวงมีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ จากกรมศิลปากรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 นี่เป็นเพียงสังเขป รอยทาง...สนามหลวง ที่มา “ท้องสนามหลวง” ตำนานงานโยธา (2325-2556) กรุงเทพมหานคร, วิกิพีเดีย, เรียบเรียง