ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล พอฝึกหนักแล้ว 3 เดือน ทหารเกณฑ์ก็ได้กลับบ้าน 1 อาทิตย์ ผมมองสารรูปตัวเองแล้วก็ปลงสังเวช น้ำหนักที่ลดลงไปกว่า 20 กิโลทำให้รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปมาก พอกลับมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯบางคนเรียกผมว่า “นกกระจาบทอดกรอบที่ชุมทางบ้านพาชี” (สมัยก่อนจะมีขายของตามสถานีรถไฟ ที่ชุมทางบ้านพาชีมีชื่อเรื่องนกกระจาบทอดนี้มาก) คือผอมเกร็ง หัวโต ผมเกรียน ผิวกร้าน เวลาเดินเหินดูเก้งก้างไร้ชีวิตชีวา ซึ่งความจริงน่าจะเป็นปัญหาจากการปรับตัวมากกว่า เพราะทุกวันที่กองร้อยฝึกจะได้ยินเสียงนกหวีดแต่เช้า และตลอดวันก็จะตลบอบอวลด้วยเสียงตะโกนสั่งโน่นสั่งนี่ตลอดเวลา พอมาอยู่บ้านกะว่าจะนอนสบายๆ แต่ก็ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นอย่างหวาดผวา เพราะนึกว่ายังอยู่ที่กองร้อยฝึก ยิ่งออกไปตามถนนข้างนอก พอได้ยินนกหวีดของตำรวจจราจรก็ต้องสะดุ้งโหยง เพราะนึกว่าเป็นเสียงนกหวีดของครูจ่าที่กรีดเสียงใส่หูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน (อาการ “ผวานกหวีด” นี้เป็นอยู่หลายปีแม้จะพ้นการเป็นทหารออกมาแล้ว) แต่ที่ตลกที่สุดก็คือ “กินอาหารไม่อร่อย” ทั้งที่เป็นอาหารจากร้านที่มีชื่อ เพราะยังมีความรู้สึกเหมือนว่ายังอยากกินอาหารถาดที่เคยรับประทานมาวันละสามมื้อตลอดสามเดือนก่อนหน้านั้น ผมอยู่บ้านแค่ 5 วัน เพราะนัดกับอภิชาติว่าจะไปแวะบ้านของเขาก่อนเข้ากองบิน บ้านของอภิชาติอยู่อำเภอสูงเนิน ไม่ไกลจากตัวเมืองโคราชมากนัก พ่อของอภิชาติเป็นกำนัน บ้านของอภิชาติจึงมีขนาดใหญ่โตกว่าบ้านทุกหลังในหมู่บ้านนั้น ผมได้รับการต้อนรับด้วยอาหารพื้นบ้านอย่างอุดมสมบูรณ์ อภิชาติชวนผมดื่มเหล้าขาว แต่ผมดื่มไม่เป็น(ในตอนนั้น)จึงปฏิเสธไป ผู้คนที่มาร่วมดื่มกินส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ของอภิชาติ บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความบันเทิงสนุกสนาน ผมหลับไปก่อนที่พวกคอเหล้าที่ยังคงเฮฮาไปตลอดคืนจะ “คอพับ” ไปทีละคนสองคน ผมตื่นมายังเห็นคนเหล่านั้นนอนระเกะระกะอยู่ ส่วนอภิชาติก็ตื่นแล้วเช่นกัน สายๆ เราลาพ่อแม่ของอภิชาติแล้วก็เดินทางเข้าเมืองไปหาเพื่อนทหารเกณฑ์อีกคนหนึ่งที่พักอยู่ในเมือง พอบ่ายๆ ก็ออกไปไหว้ย่าโม แล้วไปหาอะไรกินแถวสถานีรถไฟชุมทางถนนจีระ แล้วตกดึกก็ไปดื่มกินต่อที่คาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่มีเพลงเสียงดังอึกทึก(แต่ถึงอกถึงใจมาก) ร้องโดยนักร้องนุ่งน้อยห่มน้อย ดูตื่นตาตื่นใจ(และติดตาติดใจ)สำหรับคนหนุ่มในวัยยี่สิบเอ็ดปีนี้มาก พวกเรากลับถึงบ้านเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ตื่นมาในตอนสายๆ เพราะจะต้องกลับเข้ากองร้อยฝึกก่อนบ่ายสามโมง เพื่อกลับเข้าสู่วงจรของทหารเกณฑ์ที่เป็นอยู่นี้ต่อไป ช่วงสามเดือนหลังเป็นช่วงของการ “ลงกองร้อย” กว่า 3 ใน 4 หรือราวๆ 150 คน ในหมู่พวกเราที่เป็นทหารเกณฑ์ผลัดเดียวกัน ถูกส่งไปยังกองพันต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ลาดตระเวนและ “เฝ้าสนามบิน” ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกองบิน 1 แต่ก็มีบางคนราวๆ 30-40 คน ถูกส่งไป “เฝ้าจานเรดาร์” ที่สถานีป้องกันภัยทางอากาศบริเวณตะเข็บชายแดนไทยกัมพูชา จำนวนหนึ่งประมาณ 10 กว่าคนถูกส่งไปยังบ้าน “เจ้านาย” ที่มีหลายๆ คนอิจฉา เพราะเชื่อกันว่าจะได้มีชีวิตที่สุขสบาย มีอาหารการกินอย่างดีในบ้านเจ้านายนั้นด้วย แต่ความจริงแล้วก็คือต้องไปเป็น “ทหารรับใช้” ส่วนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือเลวก็ขึ้นอยู่กับเจ้านายแต่ละคนนั้น ผมได้ยินข่าวมาว่า ทหารเกณฑ์คนหนึ่งในรุ่นผมไปอยู่ที่บ้านผู้กองคนหนึ่งถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ” เพียงเพราะเขาเป็นทหารที่กระตุ้งกระติ้งและมีหน้าตาผิวพรรณสวยงาม และไม่ทราบว่าเขาจะต้องอยู่ในสภาพนั้นไปอีกนานเท่าใด เพราะเขาต้องเป็นทหารเกณฑ์ไปอีก 18 เดือน ในจำนวนกลุ่มพวกเรามีประมาณ 20 กว่าคนที่อยากเป็นทหารต่อไปอีก ทุกคนให้เหตุผลว่าเป็นอาชีพที่จะทำให้มีรายได้เลี้ยงชีวิตไปได้ ซึ่งกองทัพอากาศก็มีนโยบายที่จะให้โอกาสแก่ทหารเกณฑ์เหล่านี้ โดยการสอบคัดเลือกเข้าไปเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ (เทียบกับทหารบกก็คือโรงเรียนนายสิบนั่นเอง) ซึ่งก็มักจะได้รับการคัดเลือกเข้าไปเรียนเกือบทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งก็ผ่านการรับรองความประพฤติและได้รับการสนับสนุนจากกองบินมาแล้ว รวมทั้งเป็นการคัดเลือกเข้าไปตามโควตาที่แต่ละกองบินนั้นได้รับ ผมทราบข่าวภายหลังว่าบางคนได้กลับไปเป็นครูฝึกที่กองร้อยฝึกนั่นแหละ และบางคนก็ไปประจำหน่วยรบต่างๆ ซึ่งก็เป็นหนทางแห่งความก้าวหน้าของแต่ละคน รวมทั้งเป็น “จุดจบ” ของแต่ละคนนั้นด้วย ผมเองอาจจะเรียกได้ว่าค่อนข้างจะโชคดีมากสักหน่อย เพราะได้รับการคัดเลือกให้ไปอยู่ที่กองร้อยเสนารักษ์ประจำกองบิน 1 ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของสนามบิน ตรงข้ามกับสนามฝึกและกองร้อยฝึกที่ผมอยู่มาสามเดือนแล้วนั้น กองร้อยเสนารักษ์เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวทาสีขาว กว้างยาวสัก 10 คูณ 20 เมตร แบ่งเป็น 2 ปีก ปีกซ้ายเป็นที่พักผู้ป่วยมีเตียงราว 20 เตียง ด้านขวาเป็นออฟฟิศที่ทหารหรือนายทหารที่เจ็บป่วยจะมาติดต่อ เป็นห้องทำงานคุณหมอที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรครั้งละคนสองคน มีผู้ช่วยและเจ้าหน้าที่อีก 4-10 คน (วันไหนที่ไม่มีนายมาตรวจก็จะมีสัก 4 คน ส่วนวันที่มีนายมาตรวจก็จะมากันพึ่บพั่บถึง 10 คนดังกล่าว) กับพวกผมที่เป็น “ผู้ช่วยของผู้ช่วยอีก 10 กว่าคน บางคนก็ต้องคอยทำความสะอาดบริเวณกองร้อย และเข้าเวรยามหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกัน ส่วนผมกับ “ไอ้แก้ว” (ทหารเกณฑ์รุ่นพี่ที่ผมเรียกตามคนอื่นๆ ในกองร้อยเสนารักษ์นี้) มีหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยของผู้ช่วย” คือคอยดูแลคนไข้ในกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น ไปรับข้าวถาดมาแจกจ่ายให้ผู้ป่วยแต่ละคน ดูแลให้ทานยาตามกำหนด และคอยจดบันทึกรายงานบางอย่างตามแต่ผู้ช่วยจะสั่งการ ซึ่งผู้ป่วยที่มาอยู่ที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นทหารระดับล่างๆ ที่กลับมาจากการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใหญ่ เช่น จากโรงพยาบาลภูมิพล มาพักฟื้นหรือฟื้นฟูที่นี่ (เช่นกรณีที่อภิชาติเป็นไส้เลื่อน พอไปรับการผ่าตัดจากโรงพยาบาลภูมิพลกลับมาก็ต้องมาพักฟื้นที่นี่) ผู้ป่วยจึงมีจำนวนไม่มาก ไม่ถึง 10 เตียง งานที่ทำจึงค่อนข้างเบา แต่ที่จะหนักหน่อยก็คือพวกทหารป่วยรายวัน จำพวกปวดหัวตัวร้อน ท้องเสีย เจ็บโน่นเจ็บนี่ ที่มีทั้งป่วยจริงๆ และแกล้งป่วย วันละ 10-20 ราย ที่พวกผู้ช่วยซึ่งส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึง “รู้เช่นเห็นชาติ” และสามารถ “จับได้ไล่ทัน” อยู่เสมอ ซึ่งคนที่แกล้งป่วยก็จะถูกทำโทษและรายงานความประพฤติไปตามลำดับชั้น สำหรับอภิชาติถูกจัดไปประจำที่กองร้อยรักษาการณ์ และไปสร้าง “วีรเวร” ไว้มากมายที่นั่น