การให้...มีความหมายโดยรวมคือการเสียสละบางอย่างเพื่อส่งมอบสิ่งที่มีค่าให้กับผู้อื่นและสิ่งที่ได้รับตอบแทนกลับมาคือ “ความสุข” ที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน อาจทำให้หลายคนละเลยการให้นี้ไป แต่ไม่ใช่กับสองศิลปินที่ยังคงยึดมั่นในเส้นทางการของเป็นผู้ให้ผ่านการสืบสานและสร้างสรรค์งานศิลปะ แม้จะมีสไตล์ที่ต่างกันแต่ทั้งคู่ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือการเป็นฟันเฟืองที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในสังคมและขับเคลื่อนวัฒนธรรมแห่งการให้...ให้คงอยู่ในสังคมไทยต่อไป
* ขุนเขาผู้สานต่อมรดกงานศิลปะสู่การให้ที่ยิ่งใหญ่
ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ศิลปินหนุ่ม ทายาทผู้สืบทอดเจตนารมณ์ทางศิลปะที่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ฝากเอาไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมให้ยังมีลมหายใจผ่านการถ่ายทอดผลงานในรูปแบบที่แตกต่างและประยุกต์ให้เข้าถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกการตอบแทนสังคมควบคู่ไปด้วย หลายคนอาจจะรู้จัก ดร.ดอยธิเบศร์ในฐานะทายาทเพียงคนเดียวของศิลปินผู้ล่วงลับ แต่น้อยคนจะรู้ว่านอกจากสายเลือดศิลปินที่มีอยู่เต็มตัวแล้วเขายังมีหัวใจของการเป็นจิตอาสาที่เป็นแกนนำทำภารกิจเพื่อสังคมมาอย่างยาวนาน ทั้งเส้นทางกว่า 10 ปีของการเป็นอาสาสมัครกู้ภัยในจังหวัดเชียงรายและล่าสุดกับบทบาทการเป็นศิลปินจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่วันนี้ ดร.ดอยธิเบศร์พร้อมเปิดหัวใจพูดคุยถึงความเป็นมาของความร่วมมือกันในครั้งนี้
“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิรามาธิบดีฯอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนหน้านี้ผมมีการจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อนำรายได้ไปจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่อใช้รับมือกับโรคโควิด-19 มอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดีก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากเรื่องโควิด-19 แล้วผมมองว่าในสังคมไทยเรามีผู้ป่วยยากไร้จำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งผมก็มีความตั้งใจที่จะช่วยอย่างเต็มกำลัง เมื่อมีโอกาสจึงไม่ลังเลที่จะนำศิลปะมาช่วยเหลือสังคมโดยการส่งมอบลวดลายภาพวาดของคุณพ่อเพื่อนำมาประยุกต์และจัดทำเป็นสินค้าที่ระลึกจำหน่ายหารายได้ให้แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลอันเป็นที่พึ่งพาของผู้ป่วยยากไร้ทั่วประเทศ”
*ศิลปะคือความจริงที่คงอยู่ในทุกๆมิติของมนุษย์
แม้จะยังคงคาแรคเตอร์ลายเส้นที่ดุดันเป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์ถวัลย์ แต่การนำมาผลิตเป็นสินค้าที่คนสามารถใช้งานได้จริงจำเป็นต้องมีความสมดุลกันทั้งสี ลวดลายและวัตถุที่ผลิต ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้ซื้อได้รับทั้งความอิ่มใจที่ได้ทำบุญและความสุขใจที่สามารถนำสินค้าไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ดร.ดอยธิเบศร์ จึงเลือกปรับสไตล์งานให้ทรงพลัง โดยนำทองคำซึ่งดูมีมูลค่าเข้ามาแต่งเติมในผลงานกับคอลเล็คชั่น "สืบศิลป์สร้างสรรค์แบ่งปันน้ำใจ มูลนิธิรามาธิบดีฯ x ถวัลย์ ดัชนี" เช่น การทำเสื้อพิมพ์ทอง ที่ต้องใช้ผงทองมาผลิตด้วยเทคนิคพิเศษอย่างละเมียดละไม นอกจากนี้ยังมีหน้ากาก กระเป๋า และแก้วน้ำที่เจ้าตัวบอกว่าเตรียมจำหน่ายคอลเลคชั่นแรกนี้ผ่าน LIVE บน Facebook: Doytibet Duchanee ในวันเสาร์ที่ 12 กันยายนนี้ พิเศษมอบภาพพิมพ์สำหรับผู้ที่สั่งซื้อ 300 ชุด และในวันที่ 15 กันยายน เปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ผ่านเว็บไซต์ www.ramafoundation.or.th
“ผมอยากให้ศิลปะได้รับใช้ในทุกๆมิติของสังคมและศิลปะควรจะเป็นสิ่งที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ งานศิลปะที่ดีไม่ควรถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบ เพราะความสามารถของศิลปะจะช่วยแต่งแต้มความงดงามลงไปในข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาที่เราเห็นจนชินตาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ฉะนั้นศิลปะจึงมีพลังงานมากที่จะช่วยผลักดันให้สังคมก้าวไปสู่ทางที่ดียิ่งกว่าเดิมผ่านการสร้างวัฒนธรรมแห่งการให้ในสังคมไทย ซึ่งผมภูมิใจมากที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานครั้งนี้”
*จุดเริ่มต้นของเมล็ดพันธุ์แห่งการให้ที่ผลิบานในหัวใจ
ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปินสาวที่มีลายเส้นสีสันสดใสเป็นเอกลักษณ์ หนึ่งในศิลปินจิตอาสาที่ปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ในการร่วมงานกับมูลนิธิฯ โดยก่อนหน้านี้เธอเคยร่วมแคมเปญออกแบบลายผ้าพันคอและร่ม แต่ปีนี้พิเศษมากขึ้นเพราะลายเส้นที่เธอออกแบบจะถูกนำไปผลิตสินค้าคอลเล็คชั่นใหม่โดยมีไลน์สินค้าทั้งเสื้อ ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋า เป็นต้น โดยมีกำหนดการวางขายเร็วๆนี้
“ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เรามีโอกาสได้พาคุณป้าซึ่งเป็นญาติสนิทเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ภาพที่เห็นในวันนั้นคือผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าคิวรอพบหมอ ซึ่งจำนวนของหมอก็มีอยู่อย่างจำกัด บางคนที่เข้าพักในห้องพักรวมก็มีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ญาติที่มาดูแลก็ต้องเบียดเสียดกันอยู่ในพื้นที่เล็กๆ การเข้าโรงพยาบาลครั้งนั้นนับเป็นภาพจำที่ทำให้เราให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าวันหนึ่งหากมีโอกาส เราอยากเป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเหล่านี้ดีขึ้นได้ และเมื่อจังหวะชีวิตนำพาให้เราเข้าสู่เส้นทางการทำงานในวงการแฟชั่น เราก็มีโอกาสได้รู้จักหน่วยงานการกุศลมากขึ้น ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีฯ ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เราสนใจเพราะมีวัตถุประสงค์การทำงานชัดเจน เชื่อถือได้ บวกกับโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็เป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ต้องรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ร่วมงานกับทางมูลนิธิฯเรื่อยมา
*เพราะศิลปะคือการสื่อสาร
ในส่วนคอนเซ็ปต์ลวดลายที่ออกแบบให้กับทางมูลนิธิฯในปีนี้ คุณยูนได้วางแนวคิดหลักเป็นเรื่องของ “ความรัก” ด้วย ไม่อยากให้สินค้าที่ผลิตออกมามีความหม่นหมอง ดูเศร้า เธอจึงใช้ตัวแทนสากลของความรักอย่าง เทพคิวปิดตัวน้อย, รูปหัวใจ, รูปแมว และสีสันสดใสที่ตัดกันเป็นเอกลักษณ์มาสร้างสรรค์ผลงานการกุศลในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสทำบุญและมีความสุขจากการใช้สินค้าเซ็ตพิเศษที่ผลิตขึ้นมาด้วยความรัก
“เพราะศิลปะคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง การทำงานกับมูลนิธิฯครั้งนี้เราจึงเลือกใช้ศิลปะในการสื่อสารความรู้สึกรักออกไปเพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงให้ประชาชนหันกลับมารักและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนตัวเรามองว่าการช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดและเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องที่ส่วนรวมควรใส่ใจ อย่างการร่วมงานกับมูลนิธิฯในครั้งนี้เรามีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสังคมแบบองค์รวม เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นแต่เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้หากขาดการสนับสนุนจากประชาชน เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนเราจะมีความสุขไม่ได้หากองค์รวมในสังคมยังไม่มีความสุข ซึ่งเราก็หวังอยากให้งานศิลปะที่เราทำอยู่มีส่วนช่วยสร้างวัฒนธรรมแห่งการให้ในหัวใจของผู้คน”
แม้จะมีสไตล์ที่ต่างกันแต่สองศิลปินต่างมีหัวใจดวงเดียวกันคือหัวใจแห่งการให้ที่พร้อมสร้างความร่วมแรงร่วมใจให้คนในสังคมกลับมาให้ความสุขซึ่งกันและกันอีกครั้ง ผู้สนใจสนับสนุนของที่ระลึกการกุศลของทั้ง 2 ศิลปินจิตอาสา ติดตามได้ที่ Facebook, Instagram, Line @RamaFoundation สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ ดูรายละเอียดที่ www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร 02-201-1111