"ยุภาพร คงสมบัติ" เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ปี 2561 จากจังหวัดชัยภูมิ พลิกผันชีวิตจากพนักงานบริษัท มาสู่อาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งต้นแบบเกษตรกรที่ใช้แนวทางการทำบัญชีมาเป็นเข็มทิศให้กับชีวิตของตนเอง สามารถพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมภายใต้การศึกษาหาความรู้ พัฒนาปรับเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นแบบอย่างทางด้านความคิดที่มีส่วนในการผลักดันให้เพื่อน พี่ น้อง และเกษตรกรในพื้นที่ ได้เห็นถึงความสำคัญในการทำบัญชี ภายใต้บทบาทครูบัญชีอาสาอีกด้วย
นางยุภาพร คงสมบัติ เปิดเผยว่า เดิมครอบครัวปลูกอ้อยบนพื้นที่ 50 ไร่ เนื่องจากอยู่ในเขตการส่งเสริมการปลูกอ้อยของโรงงานน้ำตาลบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ดังนั้น อ้อยจึงนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่แต่การอาศัยรายได้จากการปลูกอ้อยเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจาก 1 ปี เก็บผลผลิตได้เพียงครั้งเดียวและราคาอ้อยเป็นไปตามกลไกของตลาด เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ หากปีใดราคาอ้อยตกต่ำ เกษตรกรก็ไม่มีรายได้ และยังเป็นหนี้กับทางโรงงาน การเปลี่ยนแปลงในด้านการเกษตรของครอบครัวเริ่มเกิดขึ้น เมื่อความต้องการทางด้านการเงินมีมากขึ้น เนื่องจากต้องส่งลูกเรียนทั้งในระดับมัธยมศึกษา และปริญญาตรี ซึ่งในขณะนั้น ผู้เป็นพ่อจึงตัดสินใจขุดบ่อเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร จากนั้นรื้อแปลงอ้อยเปลี่ยนมาปลูกพืชผัก หมุนเวียน จำนวน 5 ไร่
นอกจากนี้ ยังวางแผนให้ก่อเกิดรายได้รายวัน ด้วยการเก็บผักขายในหมู่บ้าน ชุมชนใกล้เคียง และส่งขายตลาด ทำให้มีรายได้ส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีทั้ง 3 คน ส่วนตนเองภายหลังจากจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้รับค่าแรงเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาในขณะนั้น
จนกระทั่งเกิดความคิดอยากกลับบ้านเพื่อมาดูแลพ่อแม่ และช่วยทำการเกษตร จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำการเกษตรเต็มตัว โดยขณะนั้นพ่อและแม่ ได้เริ่มทดลองปลูกพุทราสามรส จำนวน 10 ไร่ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้นำความรู้มาช่วยครอบครัวทำการตลาด โดยเริ่มจากขายในชุมชน ตลาดใกล้บ้าน ต่างอำเภอ และต่างจังหวัด และด้วยพุทราเป็นผลไม้ที่ไม่อยู่ในกระแส คนปลูกไม่มาก การเก็บเกี่ยวผลผลิตนานถึง 6 เดือน ไม่มีความเสี่ยงเรื่องราคามากนัก ประกอบกับการผลิตของให้ได้คุณภาพตามความต้องการของลูกค้า ทำให้เป็นที่นิยมของลูกค้า จึงขยายพื้นที่ปลูกเป็น 25 ไร่ และนำความรู้ที่เรียนมาเพื่อใช้บริหารจัดการในการเกษตรทั้งด้านการวางแผนการปลูกพืช การวางแผนการตลาด โดยใช้ข้อมูลบัญชีต้นทุนอาชีพ เป็นพื้นฐานในการวางแผน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เน้นคุณภาพของผลผลิต ความปลอดภัยปราศจากการเข้าทำลายของโรคและแมลงหรือสารพิษตกค้าง หลีกเลี่ยงการปลูกพืชในฤดูที่มีผู้ผลิตและผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก สร้างความแตกต่างเพื่อจูงใจในการตัดสินใจ และเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าตนเอง เพียง 4 ปีที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำการเกษตรอย่างเต็มตัว ก็สามารถปลดภาระหนี้สินประมาณ 600,000 บาท ที่เกิดขึ้นเมื่อคราวลงทุนทำไร่อ้อยได้สำเร็จและเริ่มมีเก็บออมเงินส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการลงทุนปลูกพืชใหม่ๆ ในครั้งต่อไป และอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวฉุกเฉิน
ด้วยความสำเร็จและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ในปี 2559 ได้มีโอกาสเข้าอบรมครูบัญชีอาสา เพื่อทำหน้าที่เป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป และนับว่าเป็นโอกาสดีอีกครั้ง เมื่อพื้นที่เกษตรของตนได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากการทำการเกษตร การใช้ข้อมูลทางการบัญชีเพื่อการวางแผนด้านการเกษตร ให้กับผู้ที่สนใจได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนเข้ามาเยี่ยมเยือนและแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง
นางยุภาพร กล่าวอีกว่า จากความสำเร็จในเบื้องต้นที่กล่าวมา ได้มีการส่งเสริมการทำบัญชีให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยใช้ประสบการณ์ของครอบครัวตนเองเป็นตัวอย่างในการถ่ายทอด เพื่อให้ประกอบอาชีพอย่าง มีหลักการมากขึ้น ทำให้ขณะนี้ในพื้นที่ ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีเกษตรกรที่ลดพื้นที่การปลูกอ้อยแล้วหันมาทำเกษตรผสมผสานสร้างรายได้รายวันกันมากขึ้น ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“การทำบัญชีต้นทุนอาชีพ ถือเป็นเข็มทิศสำคัญในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่เพียงเฉพาะอาชีพเกษตรกรเท่านั้น ทุกอาชีพก็ควรจะให้ความสำคัญในการทำบัญชี ประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพ ก็สามารถนำหลักการทำบัญชีมาใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน เพื่อให้การดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ความไม่ประมาท ลดความเสี่ยงได้อย่างมีเหตุมีผล ปัจจุบันได้ปรับพื้นที่มาทำการทำเกษตรผสมผสานเต็มรูปแบบ ทั้งปลูกไม้ผล พืช ผัก ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ขุดบ่อน้ำ ทำกิ่งพันธุ์ไม้ผล ทำให้มีรายได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง” นางยุภาพร กล่าว