เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 กันยายน 2563 สายด่วน 191 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ได้รับแจ้งจากคนขับเรือที่ท่าเทียบเรือเชียงรายว่า ได้พบวัตถุคล้ายอาวุธสงครามไม่ทราบชนิดลอยมาตามลำน้ำกก จำนวน 2 ลูก โดย เจ้าหน้าที่สรรพวุธทหาร มณฑลทหารบกที่ 37 และกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด EOD เข้าเก็บกู้และตรวจสอบ พบว่า วัตถุดังกล่าว คือ ลูกจรวดต่อสู้รถถัง ใช้สำหรับทำศึกสงครามสำหรับเจาะทะลุ โดยทำงานผ่านลำกล้อง สภาพพร้อมใช้การได้ และยังพบว่าระบบรักษาความปลอดภัยยังมีความสมบูรณ์ สามารถใช้งานได้ ส่วน นายสงกรานต์ กำแพงคำ อายุ 57 ปี อาชีพขับเรือรับจ้าง ที่ท่าเทียบเรือเชียงราย เปิดเผยว่า ตนกำลังเก็บท่อนไม้ที่ลอยมาตามน้ำเพื่อจะนำไปทำฝืน พบกล่องทรงกระบอกลักษณะแปลกตา จึงหยิบขึ้นมา เปิดดูพบว่าเป็นลูกจรวดดังกล่าว รู้สึกตกใจมาก จึงรีบแจ้งตำรวจทันที สำหรับลูกจรวดดังกล่าว รู้จักกันในชื่อจรวดหัวปลี หรือ จรวด RPG สำหรับใช้ในราชการสงคราม การปราบจลาจล หรือ การทำลานยานเกราะ หรือ กำบังที่เป็นคอนกรีตหนา ด้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด ร้อยตำรวจเอก สุริยา อุปนันกาศ กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นจะเก็บลูกจรวดดังกล่าว และรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้น จะรวบรวมทำลายต่อไป พร้อมกับแจ้งเตือนประชาชนว่าหากเจอวัตถุต้องสงสัยในลักษณะนี้ไม่ควรหยิบจับ เพราะอาจเกิดการระเบิดจากกลไกต่าง ๆ ในตัวจรวด และควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ที่สายด่วน 191 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง สำหรับจรวดที่พบในครั้งนี้ เป็นจรวดที่เรียกว่าลูกยิง หรือ (ลย) ต้องใช้ประกอบกับเครื่องยิงที่เรียกว่า ปืนเวอร์ชั่น RPG-7 ผลิตในประเทศสหภาพโซเวียต จรวดมีทั้งขนาด 40 มิลลิเมตร 70 มิลลิเมตร ถึง 105 มิลลิเมตร สามารถบรรจุจรวดได้ครั้งละ 1 นัด มีระยะหวังผล 200 - 500 เมตร ระยะยิงไกลสุดมากถึง 1000 เมตร มีน้ำหนักรวม 6.3 Kg - 7 Kg ผลิตโดย Panzerfaust เป็นต้นกำเนิดในการประดิษฐ์จรวด RPG-2 และ RPG-7 อันลือลั่นของกองทัพโซเวียต จรวด RPG-7 เป็นจรวดที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้งานในปี ค.ศ.1962 เป็นต้นมา รุ่นที่ผลิตในจีนเรียกว่า ROCKET TYPE 69 มีลักษณะคล้ายกับเครื่องยิงจรวด RPG-2 แต่ขนาดจรวดโตขึ้นเป็น 85 มม.จากเดิม 82 มม. และตัวเครื่องยิงมีขนาดสั้นกว่า เครื่องเล็งเป็นระบบองค์ทัศนะ สามารถทำการเล็งได้ทั้งกลางวันและกลางคืน หางนำทิศเปลี่ยนใหม่เป็นแบบใบมีดขนาดใหญ่ และจะกางออกทันทีที่ลูกจรวดถูกยิงพ้นลำกล้อง ตอนท้ายสุดของลูกจรวดจะทำหางนำทิศขนาดเล็กไว้เพื่อให้ลูกจรวดหมุนตัวเล็ก น้อยขณะแหวกอากาศสู่เป้าหมาย ซึ่งทำให้จรวดมีการทรงตัวดีขึ้น นอกจากนั้นลูกจรวดยังมี ROCKET MORTOR เพื่อช่วยขับเคลื่อนโดยเมื่อยิงลูกจรวดพ้นปากลำกล้องออกไปประมาณ 10 เมตร ROCKET MORTOR จะจุดตัว ทำให้มีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 500 เมตร ก่อนทำการยิง RPG-7 จะต้องทำการประกอบชุดดินขับจรวดโดยการขันเกลียวยึดเข้ากับตัวจรวดเสียก่อน ส่วนจรวด RPG-2 ได้รับการพัฒนาและผลิตขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดย PANSERFAUST ต่อมาจีนได้นำแบบไปผลิตโดยใช้ชื่อว่า ROCKET TYPE 56 เป็นจรวดเจาะเกราะต่อสู้รถถัง (HEAT) ทรงตัวด้วยครีบหาง บรรจุลูกจรวดทางปากลำกล้อง แผ่นครีบหางเป็นแผ่นแหนบม้วนพับติดกับท่อท้ายลูกจรวดด้วยแหวนยึด (RETAINED RING) และจะหลุดออกโดยอัตโนมัติเมื่อบรรจุลูกจรวดเข้ากับเครื่องยิง เครื่องลั่นไกเป็นแบบสปริงดันนกสับ ด้านท้ายท่อยิงเป็นรูปทรงกระบอกตรงหรือเป็นแบบปากแตรในบางรุ่น สถานภาพของเครื่องยิงจรวดทั้ง 2 แบบ RPG-2 ปัจจุบันประเทศจีนเลิกผลิตแล้ว แต่ยังมีใช้งานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง - RPG-7 ยังประจำการในกลุ่มประเทศกติกาสัญญาวอร์ซอ อัฟริกา เอเชียใต้ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางบางประเทศ มีการค้นพบว่า อานุภาพของจรวดนอกจากจะมีดินระเบิดแล้ว ยังนิยมบรรจุวัตถุอยู่ 2 ประเภทในหัวจรวดชนิดนี้ แบบแรกคือก๊าซพิษ อีกแบบคือตะปูจำนวนมากอีกด้วย.