รมว.แรงงานเผยมติ ครม.ขยายเวลาลดเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 เหลือ 2% ช่วยนายจ้างลูกจ้างฝ่าวิกฤติ มีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ 12.92 ล้านคน นายจ้าง 4.87 แสนราย ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ2.4 หมื่นล้านบาท นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยกรณีเมื่อวันที่ 2 ก.ย.63 ครม.มีมติเห็นชอบให้ประกันสังคม เยียวยานายจ้าง ผู้ประกันตนต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในเดือน ก.ย.-พ.ย.63 ลดเงินสมทบมาตรา 33 เหลือร้อยละ 2 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ส่งเพียง 96 บาท โดยมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ 12.92 ล้านคน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานกล่าวถึงการลดหย่อนเงินสมทบของผู้ประกันตนตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กระทรวงแรงงานเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดโควิด-19 โดยลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2 ของค่าจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 96 บาท จากที่จ่ายเดือนละ 432 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนก.ย.-พ.ย.63 สำหรับการลดหย่อนเงินสมทบครั้งนี้จะช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกันตนจำนวน 12.92 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และนายจ้าง 4.87 แสนราย คิดเป็นเงินถึง 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 2.4 หมื่นล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนเงินที่จะประหยัดได้ของผู้ประกันตนมาตรา 33 เฉลี่ย 1,022 บาท และผู้ประกันตนมาตรา 39 เฉลี่ย 1,008 บาท ทั้งนี้ขั้นตอนของการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนด จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ภายใต้นโยบายเร่งด่วนของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนให้ตรงจุด และทันท่วงที เพื่อสร้างสรรค์หลักประกันที่มั่นคงและเป็นที่พึ่งอยู่เคียงข้างผู้ประกันตนตลอดไป