ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดเผยรายงานเรื่องการจัดซื้อยุค “สุริยะ” แอร์บัส 10 ลำ ก่อน “ถาวร” ชี้ ต้นเหตุ “การบินไทย” เจ๊ง 6.2 หมื่นล้าน โดยระบุว่า "สะเทือนไปทั้งการบินไทย หลัง ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำโดยคณะทำงานฯ ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธานคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ระบุว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน มาจากการจัดซื้อเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ รุ่นแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่าตามบัญชี ณ วันส่งมอบ 53,043.04 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจในช่วงปี 2546-2547 พร้อมระบุรายละเอียดว่า เครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว เริ่มทำการบินตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ถึง 7 ม.ค.2556 ในเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ,กรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และเส้นทางอื่นๆ รวม 51 เส้นทาง แต่ประสบปัญหาขาดทุนในทุกเส้นทางที่ทำการบินไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท เฉพาะเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก และกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส ขาดทุนรวมเป็นเงินถึง 12,496.55 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 เป็นเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ ใช้เครื่องยนต์ 4 เครื่องยนต์ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานสูง แต่มีจำนวนที่นั่งน้อย ขณะเดียวกัน เครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ดังกล่าว มีการใช้งานไม่คุ้มค่า โดยใช้งานได้เพียง 6-10 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุการใช้งานเครื่องบินโดยทั่วไปที่กำหนดไว้ 20 ปี ปัจจุบันเครื่องบินดังกล่าวได้ปลดระวางแล้ว อยู่ระหว่างการจอดรอจำหน่าย ทำให้บริษัท การบินไทย ขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 22,943.97 ล้านบาท คณะทำงานฯสรุปว่า เมื่อนำผลขาดทุนจากการจัดซื้อและการบริหารจัดการเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มารวมกัน ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบภาวะการขาดทุนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังพบว่าเครื่องยนต์อะไหล่ที่จัดซื้อสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 คือ เครื่องยนต์อะไหล่รุ่น Trent-500 จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งจัดซื้อในปี 2546 เป็นต้นมา และทยอยส่งมอบอะไหล่ตั้งแต่เดือนธ.ค.2557 ถึงเดือนธ.ค.2550 วงเงินรวม 3,523.17 ล้านบาท (อะไหล่เครื่องละ 503.31 ล้านบาท) แต่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้งานแต่อย่างใด อีกทั้งเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ทะเบียน 775/HS-TLD ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องที่ปลดระวางและจอดจำหน่าย พบปัญหาการละเลย ไม่รอบคอบ ไม่ใส่ใจของผู้ดูแลบำรุงรักษา ทำให้เครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องยนต์เสียหาย และต้องให้บริษัท Rolls Royce ซ่อมแซม โดยมีค่าซ่อมรวม 20 ล้านเหรียญ หรือ 600 ล้านบาท และไม่ปรากฏว่า บริษัท การบินไทย ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดชอบทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย ต่อกรณีเครื่องยนต์ 4 เครื่องของเครื่องบิน A340-500 ได้รับความเสียหาย แต่อย่างใด ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า นอกจากการการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จะทำให้บริษัท การบินไทย ประสบกับปัญหาแล้ว รายงานผลการตรวจสอบฯ ยังพบว่า บริษัท การบินไทย ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสภาพเครื่องบินทั้ง 2 รุ่น เป็นเงินอีก 1,344.87 ล้านบาท แบ่งเป็นการเข้าร่วมโครงการ Total Care Agreement (TCA) ของเครื่องยนต์ Trent-500 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2550 โดยมีระยะซ่อมบำรุงระหว่างปี 2548-2558 มูลค่า 1,129.60 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงระหว่างปี 2559-2560 (ณ เดือน ม.ค.2560) อีก 215.27 ล้านบาท “ปัญหาสำคัญอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้การดูแลรักษาสภาพเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 มีค่าใช้จ่ายสูง เกิดจากเจ้าหน้าที่ขาดความคร่งครัดในการดูแลรักษาสภาพเครื่องบินตามคู่มือการซ่อมบำรุง และการบินไทยขาดการสอบทานและติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด ทำให้เครื่องบินไม่สามารถจำหน่าย/ขายให้ผู้ซื้อได้” รายงานผลการตรวจสอบฯ ระบุ ไม่เพียงเท่านั้น การจัดหาเครื่องฝึกจำลอง (Flight Simulator) สำหรับเครื่องบินแบบ A340 จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 688.09 ล้านบาท และต่อมาในเดือนธ.ค.2557 บริษัทฯ ได้ปรับปรุงเครื่องฝึกบินจำลองให้สามารถใช้ได้ทั้งเครื่องบินแบบแอร์บัส A-330 และ A-340 อีก 144.61 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 832.7 ล้านบาทนั้น "อาจมีการใช้งานไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน เพราะบริษัทฯมีรายได้จากการให้สายการบินอื่นเช่าเครื่องฯเพียง 4.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 160.90 ล้านบาท" ผลการตรวจสอบฯ ระบุ จึงเท่ากับว่า การจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ การจัดหาอะไหล่ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และลงทุนที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจไม่คุ้มค่า ตลอดจนข้อบกพร่องในการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ทำให้บริษัท การบินไทย เสียหายไม่ต่ำกว่า 68,271.53 ล้านบาท ที่สำคัญจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถติดตามได้ว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายในครั้งนี้เป็นใครบ้าง แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีรายงานการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ที่ระบุว่า “ผู้บริหารบริษัท การบินไทย ไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเคร่งครัด จริงจัง โดยไม่ได้มีการพิจารณาในการนำความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง ไปประกอบการดำเนินการจัดซื้อเครื่องบิน” อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า ในช่วงปี 2546-47 ครม.มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำนวน 2 ล็อตใหญ่ จัดซื้อในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ล็อตแรก เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2546 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2545/46-2549/50 ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. และ สุริยะ เสนอ โดยให้บริษัทฯได้ยกเลิกการจัดหาเครื่องบินพิสัยกลาง 1 ลำ ตามโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2543/44-2547/48 และให้บริษัทฯ จัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมจำนวน 15 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบ B747-400 ใช้แล้วของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ 7 ลำ เครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบ A340-600 จำนวน 5 ลำ ในวงเงินลงทุน 58,324 ล้านบาท สำหรับเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบ A340-600 จำนวน 5 ลำนั้น บกท. ทยอยรับมอบเครื่องบินแรกในเดือนมิ.ย.2548 และส่งมอบเครื่องสุดท้ายในเดือน ต.ค.2548 คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 41,609 ล้านบาท โดยมีราคาเครื่องละ 4,898-5,098 ล้านบาท ล็อตที่สอง เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 ครม.มีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2548/49-2552/53 จำนวน 14 ลำ วงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ และแบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ “…1.1 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม) ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 ให้ บกท. ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2545/2546-2549/2550 เพื่อจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม จำนวน 15 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินใช้แล้ว แบบ B747-400 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ จำนวน 7 ลำ เครื่องบิน แบบ A340-500 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบ A340 - 600 จำนวน 5 ลำ แต่ บกท. ไม่สามารถรับมอบเครื่องบินใช้แล้วแบบ B747-400 จำนวน 7 ลำ ทำให้ บกท. ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตในปี 2546/47-2547/48 บกท. จึงได้เลื่อนการรับมอบเครื่องบินแบบ A340-500/600 ให้เร็วขึ้น และปรับปรุงแผนวิสาหกิจฉบับเดิม (ปี 2545/46-2549/50) เป็นแผนวิสาหกิจฉบับใหม่ ปี 2548/49-2552/53 1.2 บกท. จึงเสนอโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49-2552/53 เพื่อ คค.พิจารณานำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติ 1) ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49-2552/53 ของ บกท.จำนวน 14 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่มาก แบบ A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท โดยจะลงทุนในปี 2547-2548 จำนวน 7,818 ถ้านบาท…” เอกสารข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมประกอบการประชุมครม.เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 ระบุ บกท. ระบุด้วยว่า การรับมอบเครื่องบินเครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เงินลงทุน 5,748 ล้านบาท จะมีขึ้นในเดือนต.ค.2550 และการรับมอบเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ เงินลงทุน 6,179 ล้านบาท จะมีขึ้นในเดือนต.ค.2551 ขณะเดียวกัน เอกสารของกระทรวงคมนาคม ยังระบุถึงความจำเป็นของโครงการดังกล่าวว่า “ในแผนวิสาหกิจปี 2548/49-2552/53 บกท.ได้วางเป้าหมายที่จะทำให้ บกท. เป็นสายการบินชั้นนำของโลก โดยจะขยายเส้นทางบินเชิงกลยุทธ์ทั้งเส้นทางข้ามทวีปและภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค..." แม้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารกิจการ และปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ของคณะทำงานฯที่ ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม แต่งตั้งขึ้น ชี้ประเด็นว่า ‘ปฐมบท’ ที่ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน มาจากการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในขณะที่การจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงแหน่งรมว.คมนาคม เมื่อ 17-18 ปีที่แล้ว แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ยังไม่สามารถ 'ตัดสิน' ได้ว่าการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสทั้ง 10 ลำ เป็นการตัดสินใจที่ ‘ผิดพลาด’ ทางนโยบายหรือไม่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร