บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) วิกฤติสถานการณ์บ้านเมืองคราวนี้จะเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่ส่งผลกระทบถึงท้องถิ่นได้หรือไม่อย่างไร จะเรียกว่าวิกฤติอะไรดี เพราะวนอยู่ที่สองขั้วความคิด โดยไม่มีความคิดกลางแต่อย่างไร คาดว่ากระแสจุดติดนี้ต้องลามไปถึงท้องถิ่นอย่างแน่นอน แฟลชม็อบเด็กและเยาวชนมีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งที่ลุกลาม (1) ปกติแฟลชม็อบประท้วงใดๆ เกิดจากเหตุหลัก 2 ประการ คือ (1.1) ไม่ได้รับ “ความเป็นธรรม” รวมทั้ง “ความไม่ยุติธรรม” ที่สะสมพอกพูน ถือเป็นวิกฤติปัญหาอย่างสำคัญที่รัฐต้องแก้ไข เพราะจะเป็นเหตุวิกฤติศรัทธาของรัฐบาลในที่สุด และ (1.2) กลุ่มผลประโยชน์ขัดแย้งกันทางการเมือง ส่วนประเด็นอื่น เช่น เป็น “กิจกรรมการเมืองของตัวแทน” (Proxy) ของพรรคการเมืองที่ได้ใช้จ้างวาน เห็นว่าเป็นประเด็นรอง แต่ประเด็นหลักล้วนเกิดมาจากความไม่พอใจ ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือของกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว แล้วจึงพากันมาเรียกร้องหา “เสรีภาพ” ที่ขยายวงกว้างอย่างไม่มีจุดจบ หรือจนกว่าจะแพ้ชนะ (2) จุดต้นตอต้นเหตุที่คลายม็อบที่เรียกร้องได้ เช่น การกระจายอำนาจ การปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูปกระบวนการการศึกษา การยุติธรรม ฯลฯ เป็นต้น เพราะอำนาจรวมศูนย์ยาวนานก่อให้เกิดแรงกดดันแย่งชิงอำนาจกัน หากได้มีการกระจายอำนาจ ก็จะเป็นการผ่อนคลายความเก็บกดของประชาชน (Repression) ลงได้มาก แต่การผ่อนคลายอย่างหนึ่งอาจเกิดม็อบใหม่อีกอย่างก็ได้ แต่จะเป็นม็อบเฉพาะทางที่ไม่ใหญ่โตเหมือนเช่นม็อบที่เกิดแต่ก่อน เป็นม็อบรายกรณีไป เช่น ม็อบคนผิวสีกับตำรวจในสหรัฐอเมริกา หรือ ฝรั่งเศส (3) แฟลชม็อบกลุ่มนักเรียนนักศึกษาครั้งนี้ ไม่ว่าจะชุมนุมแบบยาวต่อเนื่อง หรือแบบแฟลชก็ต้องมีเสบียงและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ฯ กรณีกล่าวหาว่า มีผู้อื่นอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในวิถีทางประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น ม็อบเรียกร้องขึ้นราคาสินค้าเกษตร ที่มักผสมโรงทางการเมืองอยู่ด้วย หรือ ในกิจการผูกขาดกึ่งผูกขาด ทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ที่ได้ประโยชน์ล้วนต่างถือข้างกลุ่มม็อบของตน แถมเป็นพี่เลี้ยงท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ให้อีก หรือ ท้องถิ่นหลังมีการถ่ายโอนภารกิจ กลุ่มบุคลาการที่ได้รับผลกระทบต้องเลือกสังกัดหน่วยงาน ก็เกิดม็อบได้เช่นกัน เป็นต้น (4) ในประการสำคัญเนื่องจากมีเพียงสองขั้วความคิดดังกล่าว การเฝ้าระวังบุคคลที่สามจึงเป็นสิ่งจำเป็นการ “เสี้ยม” ไม่ว่า การโฆษณาชวนเชื่อ การยั่วยุกล่าวหาว่าร้ายใส่ความ (Hate speech) การดูถูกเหยียดหยามเสียดสีเหน็บแนม (Bully, Cyber Bullying) ฯลฯ หรือด้วยประการใดก็ตาม (5) พึงหลีกเลี่ยงการต่อต้านการข่าว การปล่อยข่าวปลอมโจมตีดิสเครดิต โดยเฉพาะของไอโอฝ่ายรัฐ ล้วนเพิ่มวิกฤติความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องใจกว้างพอ ยอมรับฟังในความเห็นต่าง เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการโหมไฟให้ลุก เช่น ข้อกล่าวหาว่า เด็กชังชาติไม่รักชาติ เด็กก้าวร้าวจาบจ้วง เด็กคิดเองไม่ได้ทำเองไม่เป็น มีผู้ใหญ่ไม่หวังดีอยู่เบื้องหลัง เด็กถูกนักการเมืองหลอก เด็กถูก NGO ครอบงำ เด็กถูกบังคับจากเพื่อน (Bully) ฯลฯ ต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่มีโลกส่วนตัวของเด็กที่ทุกฝ่ายต้องร่วมปกป้องฯ ตามที่ยูนิเซฟเรียกร้อง ทฤษฎีดอกไม้หลากสี “เลือดใหม่แทนเลือดเก่า” (1) ดอกไม้ในเมืองที่มีผู้เพาะบ่มย่อมสวยงามหลากหลายสีกว่าดอกไม้ป่าที่ขึ้นเอง ที่ไม่มีผู้เพาะปลูกดูแล เป็นดอกไม้ชนิดเดียวไม่หลากหลายเหมือนเช่นดอกไม้ในเมืองที่สวยงามกว่า เช่นเดียวกับสังคมเมืองประชาธิปไตยที่มีความเห็นหลากหลายดั่งดอกไม้เมืองที่สวยงาม ยิ่งสวยเมื่อเคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ทำร้ายรังแกและ ยอมรับเสียงส่วนน้อย (2) เด็กนักเรียนและเยาวชน (Youth) เปรียบเสมือนดอกไม้เมืองที่บ่มเพาะ ข้อเสนอทั้งวาทกรรมตัวหนังสือ หรือ “ในเชิงสัญลักษณ์” การผูกโบว์ขาว การชูสามนิ้วของเด็กๆ แสดงว่า เด็กมีสิทธิ์เลือกชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของตนได้ แม้ว่าเด็กส่วนหนึ่งอายุไม่ถึง 18 ปียังไม่มีสิทธิทางการเมืองก็ตาม แต่โลกโซเซียลสังคมมิอาจไปปิดกั้นความคิดของเด็กได้ เพราะ “จากรุ่นสู่รุ่น” กำลังรอเด็กกลุ่มนี้เข้ามาทดแทนคนแก่รุ่นก่อนให้ถอยออกไป การต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่คนรุ่นก่อนพยายามต่อสู้ไม่สำเร็จจึงตกมาถึงเด็กคนรุ่นใหม่เจน Z เกิดปี 1997 อายุไม่เกิน 23 ปี หรือจำอย่างง่ายคือเด็กรุ่นปี 2000 ที่เยาวชนต่างยอมรับสภาพสังคมปัจจุบันไม่ได้ (3) ด้วยช่วงห่างของวัยที่ต่อกันจึงเป็นการรวมกันของคน 2 รุ่นคือพ่อคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) หรือคนเจน Y อายุประมาณไม่เกิน 40 ปี และลูกคนเจน Z รวมหัวกันต่อสู้กับคน “รุ่นปู่” รุ่นเก่า คือนับตั้งแต่คนรุ่นเจน X ปรากฏการณ์สังคมคราวนี้ มองอย่างหยาบคือเป็นการต่อสู้ของ “คนรุ่นใหม่” (คนรุ่นลูกกับรุ่นพ่อ) เรียก “คนยุคติจิทัล” ร่วมมือกันต่อสู้กับ “คนรุ่นเก่า” (คนรุ่นปู่รวมรุ่นลุง) เรียก “พ่อลูกร่วมกันทะเลาะกับปู่” ถือเป็นการ “จุดติด” การปฏิวัติสังคมประชาธิปไตย ที่ไม่ผูกพันกับ “อำนาจนิยม” (4) การต่อสู้ทางความคิดกันในครั้งนี้คนรุ่นใหม่ชนะวันยังค่ำ เพราะในอีก 10-20 ปีข้างหน้าประเทศนี้ก็เป็นของพวกเขา เขายังมีเวลามีแรงยื้อข้อเรียกร้องไปได้อีกกว่า 10 ปี โดยมี “แนวร่วมประชาธิปไตยต่างรุ่น” ร่วมสมทบอีกเรื่อยๆ ส่วนคนรุ่นปู่รุ่นลุงนั้นจะหมดเวลาหมดแรงลงตามอายุขัย หากมีการเลือกตั้งอีกสักสามรอบ (ใน 12 ปี) ก็จะพบว่ามีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่าที่ต้องตกขอบไปในแต่ละรอบของการเลือกตั้ง เพราะเหตุสูงวัยอายุกว่า 65 ปี ฉะนั้น ถึงอย่างไรก็ตามบ้านเมืองก็ต้องเป็นของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ด้วยผู้ลงคะแนนฝ่ายประชาธิปไตยที่มากขึ้น ส่วนคนรุ่นเก่าชอบอำนาจนิยม “เผด็จการ” ก็ทยอยแก่ไป (5) หากรัฐบาลปล่อยเวลาให้ยาวนาน ฝ่ายประชาธิปไตยก็ยิ่งได้เปรียบ และมีแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยมากจำนวนขึ้น จึงเปล่าประโยชน์ในการซื้อเวลา ฝ่ายรัฐต้องไม่กระหายอำนาจเหลิงอภิสิทธิ์ชน จนลืมสิ่งที่ได้รับปากไว้กับประชาชน (เช่น อปท.) เพราะการรวบอำนาจไว้ไม่นานรัฐบาลก็จะแตกทุกครั้งไป มหากาพย์ความขัดแย้งสองขั้วร่วมทศวรรษ วิกฤติความขัดแย้งความคิดต่างสองขั้ว เสื้อแดง เสื้อเหลือง คือการชุมนุมม็อบใหญ่ที่ผ่านมาในช่วงปี 2548-2557 รวมสามครั้ง คือ (1) ฝ่ายเรียกร้องหาความเป็นธรรมของคนรากหญ้าคือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” และ (2) “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” กลุ่มพันธมิตร และ กปปส. มีฐานที่มั่นใน กทม. มีสถานะทางสังคมที่ดีกว่า สวนทางกับอีกฝ่ายที่มีแต่คนจน ด้อยโอกาสกว่า เพราะฝ่ายหลังมองว่าฝ่ายแรกมาขัดประโยชน์ตน ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เศรษฐกิจพัง ด้วยแรงหนุนจาก “ชนชั้นกลาง” (Middle Class) เล็กน้อยจำนวนหนึ่ง นักวิชาการ นายทุน และมีอำนาจรัฐ รวมชายชุดดำ ประชาธิปไตยมีต้นทุนสูง (1) หากมีเรื่องที่กระทบต่อความสงบสุข ความอยู่รอด และความมั่นคงของรัฐแล้ว ความมั่นคงแห่งรัฐต้องมาก่อนทุกอย่างเสมอ มาก่อนกฎหมายใดๆ และก่อนสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องไม่มองเพียงมิติใดมิติหนึ่งว่า สังคมวุ่นวาย เศรษฐกิจพัง ตามกรอบความคิดเชิงอำนาจนิยม เนื่องจากระบอบ “ประชาธิปไตย” มีต้นทุนของตัวของมันเองอยู่แล้ว รัฐต้องมีต้นทุนงบประมาณค่าใช้จ่าย รัฐอย่าได้หวง หรือประหยัดต้นทุน เช่น การเลือกตั้งก็ต้องใช้ทุนครั้งละ 4-5 พันล้านบาท จะบอกว่าประหยัดไม่ต้องเลือกตั้ง หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตั้ง สสร. ผลาญงบฯ ถึง 1.1 หมื่นล้าน หรือ ในกรณีท้องถิ่นไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ มันจึงเกิดความกดดันต่อคนในสังคม ในทางกลับกันรัฐก็ต้องมีต้นทุนป้องกันอื่นที่ตนไม่สนองฝ่ายเรียกร้องด้วยเช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหาร การรักษาความสงบเรียบร้อยฯสูง เป็นต้น (2) การเมืองภาคพลเมืองใน “กิจกรรมสังคมแบบประชาสังคม” (Civil Society) โดยการลดระบบตลาดกลาง และเพิ่มตลาดชั้นล่างรายย่อยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อขยายโอกาสให้แก่คนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มากขึ้น มิเช่นนั้น คนที่ตกอยู่ในภาวะเก็บกดมานานเหล่านี้ก็จะแสดงออกมาในรูปของการประท้วง คนลงถนน ที่สร้างความสับสนยุ่งยากแก่ฝ่ายปกครอง แม้แต่เด็กเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ก็ลงถนนกันมากมาย เช่นการชุมนุมของเยาวชนที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีผู้ประมาณคนจากภาพถ่ายว่ามีจำนวน 2-4 หมื่นคน ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 เป็นคนหนุ่มสาว และมีเด็กนักเรียนที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีจำนวนมาก (3) โลกยุคการสื่อสารไร้พรมแดน (Borderless) หรือที่เรียกภาษาบ้านๆ ว่า “โลกโซเชียล” นั้น แนวโน้มของคำว่า “ความเป็นธรรม” (Equity, Fairness) กับคำว่า “ความยุติธรรม” (Justice, Justification) จะเป็นความหมายเดียวกัน หรือมีความหมายที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าเสรีภาพ มิใช่เศรษฐกิจและการเงินในลำดับแรก แต่มีอีกสิ่งที่ต้องแลกกับเสรีภาพคือ “ความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรม” (4) การโหนกระแสย้อนแย้งกับโซเชยลจึงขาดตรรกะและความเชื่อถือลง เพราะกระแสโลก (New Word Orders, Globalization) นั้น การอ้างบริบท (Context) แต่ละสังคมแตกต่างกัน เป็นข้ออ้างที่จะลดคุณค่าลงไปมาก เพราะอาจใช้ไม่ได้ในสังคมโลกปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่าสังคมโลกทุกแห่งจะมีความแตกต่างที่ลดน้อยลง จนกระทั่งเหมือนกันในที่สุด (5) น่าสังเกตว่าการวิพากษ์ตามปรัชญากรอบความคิด (Conceptual) คนไทยไม่ทำกันเพราะมันประหนึ่งย้อนแย้งหลอกตนเองพูดไม่ออก (Inconvenient truth) และสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำกันสูง ชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกิดประโยชน์ (1) ความจริงมีว่าพรรคการเมืองเดิมที่เคยคุมท้องถิ่นอยู่ยังคุมอำนาจท้องถิ่นให้ชนะการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าในระดับ อบจ. หรือ เทศบาลในเมืองใหญ่ เช่น จังหวัดชลบุรี บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี เชียงใหม่ นักการเมืองท้องถิ่นต่างมีเจ้าของมีสังกัดอยู่ ฉะนั้น คนท้องถิ่นนั้นจึงมีปลอกคอของพรรคการเมืองแล้ว จึงเป็นโอกาสยากที่พรรคการเมืองหน้าใหม่ หรือคนรุ่นใหม่จะไปแย่งชิงยึดพื้นที่ได้ง่าย จึงป่วยการคิดไปว่า ในทุกพื้นที่ต้องเป็นของพรรคฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด หรือ จะรอให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบในเชิงพื้นที่เสียก่อน แล้วจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง จึงหาเหตุชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปเพื่อรอให้รัฐบาลได้เปรียบเสียก่อน เพราะหน้าที่ของนักการเมืองก็คือการดูแลประชาชนของตัวเองตามเจตจำนงนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ หากทำไม่ได้หรือไม่ดีก็อย่าหวังว่าประชาชนจะเลือกกลับมาอีก (2) ดังนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงจำเป็น ไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายรัฐต้องยื้อยืดเวลา ชะลอดึงเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ เพราะอย่างไรเสียก็ต้องมีการเลือกตั้ง รัฐจะอ้างความไม่พร้อมไม่ได้ เป็นการคืนการตัดสินใจให้แก่ประชาชนไป เป็นส่วนหนึ่งตามวิถีทางการเติบโตของระบอบประชาธิปไตย เป็นการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยให้แก่ประเทศด้วย อย่าคาดหวังและเกรงว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีผลกระทบต่อการเมืองระดับชาติ ซึ่งในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ก่อนภายในปีนี้แล้ว หวังว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในเร็ววัน