นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)ว่า เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้พยายามเจาะเข้าระบบเว็บไซต์กระทรวงดิจิทัลฯ(www.mdes.go.th) โดยเบื้องต้นพบว่าเป็นระบบที่เข้ามาทำให้การเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์มีปัญหา ทำให้การประมวลผลล่าช้า ทั้งนี้ไทยเซิร์ตใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้เว็บไซต์เกิดความเสียหาย “ความพยายามเจาะเข้าระบบจากผู้ไม่ประสงค์ดี ในอีกแง่หนึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ช่วยทำให้เห็นจุดบกพร่อง และช่วยทดสอบระบบการป้องกัน ซึ่งหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวัง เพื่อปรับปรุงระบบให้มีความพร้อมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ตลอดเวลา” โดยระบบการป้องกันของไทยเซิร์ต ทำให้เราสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เว็บไซต์ไม่ล่มหรือเกิดความเสียหาย ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีที่พยายามแฮ็กเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลฯเป็นใคร โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าเป็นการโจมตีที่มาจากต่างประเทศจึงต้องใช้เวลา ซึ่งถ้าหากเป็นการโจมตีจากแฮคเกอร์ในประเทศ เราจะสามารถให้ไอเอสพีช่วยตรวจสอบได้ ขณะที่รายงานสถิติภัยคุกคามประจำปี 2563 ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ไทยเซิร์ตระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้พบภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆรวม 1,474 ครั้ง โดยอันดับ 1 คือการโจมตีด้วยโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ หรือมัลแวร์ (Malicious code) คิดเป็นสัดส่วน 36% ส่วนการโจมตีในรูปแบบความพยายามเจาะเข้าระบบ (Intrusion Attempts) อยู่ที่ 72 ครั้ง คิดเป็นสัดส่วน 4.9% ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ประเทศไทยเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบความพยายามเจาะเข้าระบบลดลงอย่างต่อเนื่อง จากช่วงปี 2561-2562 ที่อยู่ในตำแหน่งอันดับต้นๆ ด้วยสัดส่วน 44% และ 42% ตามลำดับ ขณะที่ในปี 2563 สถิติรายเดือนของการถูกโจมตีในรูปแบบนี้มีแนวโน้มลดลง โดยในเดือนม.ค.-ก.พ.63 มีจำนวน 22 และ 30 ครั้ง แต่จากนั้นอยู่ในระดับเลขหลักเดียว “หากหน่วยงานใดเป็นกังวลด้านความปลอดภัย สามารถติดต่อมาที่กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อประสานให้ไทยเซิร์ตช่วยตรวจสอบความผิดปกติของระบบและแก้ไขปัญหา ซึ่งมีทีมงานคอยมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง”