ผู้ว่าฯตราดยกย่อง 7 ครอบครัวยินยอมให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง หลังต่อสู้มานาน 20 ปี,ชาวบ้านหลั่งน้ำตาทิ้งที่ทำกินมา 30 ปี ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่พร้อมลูก 2 คนกับเงิน 5 แสนบาท
อ.เมือง จ.ตราด /เวลา 09.00 น.วันที่ 2 กันยายน 2563 ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจ.ตราด ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ ผู้ว่าราชการจ.ตราด ,นายภานุวัฒน์ พุทธเกสร นายอำเภอบ่อไร่ นายยุทธนา กองถวิล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจ.ตราด นายชัยกร ลุนทา หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานจ.ตราด นายวศิน พงษ์ศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมประชาชนต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จำนวน 7 ครัวเรือน เดินทางมาแสดงความยินยอมออกจากพื้นที่ทำกินในบ้านเขาปีก ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด ซึ่งมีชาวบ้านที่ทำประโยชน์ในพื้นที่สปก.เดินทางมาทำหนังสือยินดีสละที่ดินทำกิน เพื่อประโยชน์สาธารณะ 6 ใน7 รายสุดท้าย ในโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง(เขาปีกกา) ประกอบด้วย 1.นางวรรณา จันทรานุวัฒน์กุล2.น.ส.พนอศรี โสภา 3.นายชวน ไทยนิยม 4.นางอมรรัตน์ วรรณศาสตร์ 5.นายมโน สารศรี และ 6.นายดำรงค์ อินทร์นารมย์ ส่วนอีกรายยังไม่เดินทางมา
ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ได้กล่าวยกย่องและชื่นชมเจ้าของที่ดินทั้ง 7 ราย ที่เป็นผู้เสียสละ และสร้างคุณประโยชน์ให้กับทางราชการและพี่น้องประชาชนในอำเภอบ่อไร่ จ.ตราด และชาวจันทบุรีบางส่วนเพื่อให้กรมชลประทานสามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง ที่บ้านเขาปีกกา ต.หนองบอนได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในอำเภอบ่อไร่ได้ประโยชน์จากการใช้น้ำในอ่างทำเกษตรกรรม และไม่ขาดแคลนในช่วงหน้าแล้ง หลังชาวบ้านอีก 65 รายยินยอมออกจากพื้นที่แล้ว ซึ่ง 1 ใน 6 รายที่แม้บางรายจะร่ำไห้ยินยอมออกจากพื้นที่ด้วยดีและขอคำยืนยันจากผู้ว่าราชการจ.ตราดในเรื่องการหาที่ดินทำกินให้ภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมามีความไม่เข้าใจระหว่างทางฝ่ายราชการและชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินจึงเกิดกระแสการคัดค้านมาตลอดระหว่างเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้ที่ดำเนินการผลักดันเรื่องนี้คือ นางจิราภรณ์ เสนะสุทธิพันธ์ กำนันต.หนองบอน และนายภานุวัฒน์ พุทธเกสร โดยเฉพาะนายวศิน พงษ์ศิริ ที่เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชน และให้คำมั่นกับประชาชนมานานเกือบ 1 ปี จึงประสบความสำเร็จในวันนี้
นางจิราภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาอำเภอบ่อไร่มีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 2 แห่ง แต่ทั้งสองแห่งชาวอำเภอบ่อไร่ไม่ได้ประโยชน์เพราะส่งน้ำไปที่อำเภอเขาสมิง และอำเภอเมืองตราดมากกว่า การมีอ่างเก็บน้ำคลองแอ่งจะสามารถช่วยชาวสวนผลไม้ในตำบลหนองบอนกว่า 2 พันไร่ได้ ซึ่งห้วงเวลากว่า 10 ปีได้ต่อสู้มาและประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ต้องชื่นชมชาวบ้านทั้ง 7 รายที่เห็นประโยชน์ของทางราชการและพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอบ่อไร่จะได้ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งอีก
ด้านนายภานุวัฒน์กล่าวว่า ความสำคัญของอ่างเก็บน้ำคลองแอ่งจะสามารถเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกรได้จำนวนมาก เนื่องจากวันนี้ชาวสวนยางพาราต่างตัดโค่นสวนยางเพื่อหันไปปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และผลไม้จำเป็นต้องใช้น้ำมาก ซึ่งทุกปีอำเภอบ่อไร่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้มาก การที่ชาวบ้านได้ยินยอมให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่งจึงสามารถแก้ปัญหาทั้งการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วมได้โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจำนวน 72 ราย แต่ผู้คัดค้านจำนวน 7 ราย และวันนี้เดินทางมา 6 ราย ซึ่งต้องขอบคุณชาวบ้านทุกคนที่ยินยอม โดยเฉพาะนายวศิน พงษ์ศิริ ที่เข้าไปเจรจรมานานเกือบปีจึงประสบความสำเร็จ
นางนางวรรณา จันทรานุวัฒน์กุล อายุ 83 ปี ที่เป็น 1 หนึ่ง 6รายที่เดินทางมาเซ็นหนังสือยินยอมในครั้งนี้ บอกว่า อยากเห็นการแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมของจ.ตราด ได้รับการแก้ไข เพราะเป็นมานาน ซึ่งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่งจะแก้ปัญหาได้
ส่วนน.ส.พนอศรี โสภา อายุ 51 ปี ที่ต้องสูญเสียสวนมังคุดกว่า 10 ไร่ที่ทำกินมานานกว่า 30 ปี และมีรายได้จากการขายมังคุดปีละ 1.5 ล้านบาท แต่ได้รับเงินชดเชนยเพียงไร่ละ 50,000 บาท กล่าวทั้งน้ำตาว่า ยินยอมที่จะทิ้งพื้นที่ทำกินผืนนี้ที่ทำมาหากินมา 40 ปี นับจากนี้ต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่พร้อมลูก 2 คน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจ.ตราด นายอำเภอบ่อไร่ และคุณวศิน พงษ์ศิริรับปากว่าจะช่วยเหลือเต็มที่ก่อนที่จะต้องออกจากพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง และเห็นกับประโยชน์ส่วนรวมที่ชาวอำเภอบ่อไร่จะได้ประโยชน์จากการสร้างอ่างเก็บน้ำอ่างนี้
ด้านนายสุทธพงษ์ มะลิกุล ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่กล่าวว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบในจำนวน 72 ราย แต่ได้ร่วมกับนายวศิน พงษ์ศิริเข้าไปเจรจาในทางลึกกับชาวบ้านทั้ง 7 รายที่คิดค้านตั้งแต่แรก ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงจากภาคราชการ เมื่อนายวศินมและตนเองได้เข้าไปหารือ และหาคำตอบต่างๆที่ชาวบ้านสงสัย และนำมาเสนอจนเกิดความเข้าใจถึงเหตุถึงผลรวมทั้งประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับจากการสร้างเก็บน้ำอ่างนี้ ชาวบ้านก็ยินดี แม้บางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกินทั้งหมดและต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ตาม
ขณะนายวศิน กล่าวว่า ได้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าจ.ตราดประสบปัญหาด้านภัยแล้ง และน้ำท่วมทุกปีทั้งที่จ.ตราดมีฝนตกมากกว่า 4 พันมม./ปี โดยเฉพาะอำเภอบ่อไร่ และชลประทานจ.ตราดมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นท่ีอำเภอบ่อไร่ ที่ยังมีความต้องการใช้น้ำ และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง เป็นโครงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้จึงเข้าไปเจรจาและแก้ปัญหา พร้อมเข้าไปหารือกับส่วนราชการทั้งทางอำเภอบ่อไร่ ชลประทานจ.ตราด และกำนันต.หนองบอนเพื่อหาทางแก้ไข สุดท้ายได้เข้าเจรจากับชาวบ้านที่คัดค้านมและสามารถทำให้ชาวบ้านยินยอมให้ใช้พื้นที่ได้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับส่วนรวม
นายยุทธนา กล่าวว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่งจะทำให้ได้น้ำเพิ่มขึ้น 38 ล้านลบม.และจะทำให้พื้นที่การเกษตรฝั่งซ้ายในต.สะตอ และต.หนองบอนมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยฝั่งขวาจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองโสน ซึ่งที่ผ่านมาทางชลประทานตราดมีการทำแผนโครงการนี้ไว้นานแล้ว แต่ติดปัญหาที่ชาวบ้าน 6-7 รายคัดค้าน จึงไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ครั้งนี้ต้องขอบคุณคุณวิศิน พงษ์ศิริ ที่เป็นตัวแทนขอลทางราชการที่เข้าไปเจรจาจนประสบความสำเร็จและชาวบ้านมาเซ็นยินยอมในวันนี้ ซึ่งทางชลประทานตราดจะได้เร่ิมดำเนินการไปตามแผนซึ่งได้มีการศึกษาและออกแบบมาแล้ว อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่ต้องออกจากพื้นที่จะได้รับเงินชดเชยตามระเบียบของกรมชลประทาน ในส่วนของพื้นที่น้ำท่วม พืชผลการเกษตรและทรัพย์สินอื่นๆ เช่น บ้านเรือน โดยเฉพาะเคสของพี่เยาว์(น.ส.พนอศรี โสภา)ที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินกว่า 30 ปีทั้งหมดกว่า 10 ไร่พร้อมสวนมังคุด ซึ่งนับเป็นการสร้างบุญกุศลให้กับพี่น้องชาวบ่อไร่และชาวตราดด้วย


