ตามเวลาไทย ย่ำอย่าตื่น ไม่กระทบกับโลก ระบุดาวเคราะห์ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก เมื่อเจอชั้นบรรยากาศของโลก จะเผาไหม้หมด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ดาวเคราะห์น้อย 2011 ES4 เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 22-49 เมตร จะโคจรมาใกล้โลกในวันที่ 1 กันยายน 2563 เวลา 23:12 น. ตามเวลาประเทศไทย คาดว่าจะมีระยะห่างเพียง 126,000 กิโลเมตร หรือเพียง 1 ใน 3 ของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ แต่วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีความไม่แน่นอนสูงมากซึ่งทำให้ระยะห่างที่คาดว่าจะใกล้โลกมากที่สุดอาจอยู่เลยวงโคจรของดวงจันทร์ออกอีกถึง 3.5 เท่า ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของวงโคจรขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลของการติดตามดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นๆ นักดาราศาสตร์ประจำหอดูดาวแห่งภูเขาเลมมอน ค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2011 ES4 (สองศูนย์หนึ่งหนึ่ง อีเอสสี่) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 หลังจากได้รับยืนยันการค้นพบ ความสว่างของดาวเคราะห์น้อยกลับลดลงเรื่อย ๆ จึงสามารถเก็บข้อมูลได้เพียง 4 วันเท่านั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้นักดาราศาสตร์ไม่สามารถคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้อย่างแม่นยำ นักดาราศาสตร์แบ่งความไม่แน่นอนของวงโคจรดาวเคราะห์น้อยออกเป็น 10 ระดับ ตั้งแต่ 0 - 9 โดย 0 บอกถึงวงโคจรที่มีความแน่นอนสูง สามารถทราบตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ ส่วน 9 คือ ระดับความไม่แน่นอนสูงสุด สำหรับความไม่แน่นอนนั้น ไม่เพียงแค่ความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง ยังรวมถึงความคลาดเคลื่อนของช่วงเวลาที่เข้าใกล้มากที่สุดด้วย ดาวเคราะห์น้อย 2011 ES4 มีค่าความไม่แน่นอนอยู่ที่ 7 ซึ่ง Lance Benner (NASA/JPL) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนการโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจเคลื่อนจากตำแหน่งที่คำนวณไว้ไกลถึง 0.08 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 12 ล้านกิโลเมตร ขนาดของดาวเคราะห์น้อย 2011 ES4 ใกล้เคียงกับ ดาวเคราะห์น้อยที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกและทำให้เกิดลูกไฟเมื่อครั้งปรากฏเหนือเมือง เชเลียบินสค์ (Chelyabinsk Meteor) ประเทศรัสเซีย ในปี 2556 ซึ่งคลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้บ้านเรือนเสียหายและมีผู้คนว่า 1,500 คน ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากกระจกบาด แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แม้จะมีความเป็นได้สูงว่าดาวเคราะห์น้อย 2011 ES4 อาจโคจรเข้ามาใกล้โลกมาก ๆ แต่ก็ถือว่ามีขนาดเล็ก ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากพุ่งชนโลกจริงดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณนี้จะเผาใหม้จนหมดก่อนตกถึงพื้น หรือไม่เกิดความเสียหายในวงกว้าง ปัจจุบันเรามักได้รับข่าวสารเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเข้ามาใกล้โลกอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ควรกังวลหรือตื่นตระหนก เนื่องจากส่วนใหญ่ที่เข้ามาใกล้โลกมักมีขนาดเล็กมาก แม้พุ่งชนโลกจริงๆ ก็จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศจนหมด ที่เหลือรอดจากการเผาใหม้ส่วนใหญ่มักตกลงในทะเล เนื่องจากพื้นผิวโลกร้อยละ 70 เป็นมหาสมุทร เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. ----------------------------------------------------- อ้างอิง : 1) https://earthsky.org/space/ 2) https://ssd.jpl.nasa.gov/